KC Fresh เคยนำข้อมูลมานำเสนอไปแล้วว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการบริโภคอาหารจากพืช (Plant-based Food) กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะได้รับแรงผลักดันจากกระแสสุขภาพ ความยั่งยืน และความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเทรนด์นี้สอดคล้องอย่างยิ่งกับลักษณะเฉพาะของอาหารไทยที่เน้นการใช้ผัก สมุนไพร และเครื่องเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นในเมนูต้ม แกง ผัด หรือยำ ซึ่งล้วนสะท้อนภูมิปัญญาอาหารเพื่อสุขภาพที่สืบทอดมายาวนาน
จะเห็นได้ว่า พืชผักและสมุนไพรไทยจำนวนมากไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ในร้านอาหารไทยในต่างประเทศเท่านั้น แต่ความนิยมสู่ครัวเรือนของผู้บริโภคในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่ใส่ใจสุขภาพกำลังมาแรง ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 ผักไทยยังไปโลดแล่นต่างแดนได้ไม่ยาก โดยเฉพาะ “มะละกอดิบ” ที่ใช้ในส้มตำ มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง และเห็ดหลายชนิด เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า และเห็ดออรินจิ ยังคงเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่องในต่างประเทศ โดยเฉพาะในเมนูต้มยำ แกงเขียวหวาน และผัดกะเพรา และยังมีแนวโน้มการนำผักเหล่านี้ไปใช้ในสลัดฟิวชั่น น้ำผักสมูทตี้ หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ผง เช่น ผงตะไคร้ ผงขิง และผงขมิ้น ซึ่งตอบโจทย์ความสะดวกของผู้บริโภครุ่นใหม่สุดๆ
และจะเห็นได้ว่า นวัตกรรมอาหารจากพืชยังเปิดพื้นที่ใหม่ให้น้องใหม่มาแรงอย่าง “ไข่ผำ” ที่ถูกจัดให้เป็นซูปเปอร์ฟู้ดจากไทย ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นที่มีโปรตีนสูงถึง 40–45% ของน้ำหนักแห้ง และมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน รวมถึงวิตามิน B12 ซึ่งหาได้ยากจากพืชทั่วไป ซึ่งในประเทศไทยเอง แนวโน้มการบริโภคผักก็สะท้อนกระแสเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 ที่กำลังจะมาถึง เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับผักออร์แกนิกและผักปลอดสารพิษมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เริ่มให้ความสนใจกับผักพื้นบ้านที่มีสรรพคุณทางยา และผักที่มีความสะดวกในการปรุง เช่น เห็ด บรอกโคลี ดอกกะหล่ำ หรือผักหั่นสำเร็จรูป ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผักที่สามารถใช้แทนคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าวจากดอกกะหล่ำ ที่ตอบโจทย์สายคลีนและสายลดน้ำหนัก
นอกจากนี้ แนวโน้ม Flexitarian Diet ซึ่งเป็นรูปแบบการกินที่ลดเนื้อสัตว์ลงโดยไม่ละทิ้งทั้งหมด ทำให้ผักที่มีเนื้อสัมผัสใกล้เคียงเนื้อสัตว์ เช่น เห็ดออรินจิ เห็ดเข็มทอง หรือถั่วตระกูลต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลูกไก่ และเลนทิล กลายเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการทางเลือกในการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
หากจะให้สรุปรวมอย่างง่าย ผักน่ากินครึ่งปีหลัง 2568 สามารถแบ่งได้ ดังนี้
ทั้งนี้ ไม่ว่าเทรนด์สุขภาพจะเป็นอย่างไร ช่วงปีไหนควรกินผักอะไรก็ตาม แต่เราขอย้ำว่า การกินผัก ไม่จำกัดฤดูกาล ยิ่งกิน ยิ่งดีต่อสุขภาพค่ะ