โรงงานคัดบรรจุผักและผลไม้สดของบริษัท เค.ซี.เฟรช จำกัด ให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัย ความสด และความสะอาดของสินค้ามาเป็นอันดับหนึ่ง จึงนำระบบความปลอดภัยทางด้านอาหารมาใช้กับกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้สดนั้นผ่านการประกันคุณภาพได้มาตรฐานตามข้อกำหนดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบ GHP (Good Hygiene Practice), HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point) และระบบ BRC (The British Retail Consortium)  ซึ่งบริษัท เค.ซี.เฟรช จำกัด ได้นำมาใช้ในการควบคุมกระบวนการผลิต ตรวจสอบคุณภาพและวิเคราะห์อันตรายในสินค้าจนมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยก่อนที่จะมีการจัดจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ     

ทั้งนี้ ทุกระบบมีการวางแผนและดำเนินการควบคู่ไปกับนโยบายการบริหารจัดการแรงงานให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงานท้องถิ่นและกฎหมายของประเทศคู่ค้า ได้แก่ การนำข้อกำหนดด้านแรงงานและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจอย่าง ETI Base Code (ETI : Ethical Trading Initiative) ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรฐาน SMETA SEDEX มาปฏิบัติใช้อย่างเคร่งครัด

GHP (Good Hygiene Practice)
HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point)
BRCGS (Brand Reputation through Compliance Global Standard)
SMETA (The Sedex Members Ethical Trade Audit)
GHP (Good Hygiene Practice)

GHP (Good Hygiene Practice)

Good Hygiene Practice หรือ GHP หมายถึง หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร ใช้เป็นเกณฑ์ในการควบคุมกระบวนการผลิตตลอดจนคุณภาพของผลิตภัณฑ์ จัดทำขึ้นโดยองค์การมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ โคเด็กซ์ (CODEX) เพื่อให้สมาชิกทั่วโลกใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่ง GHP เป็นข้อกำหนดพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตและควบคุมให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม เพื่อให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัย โดยมีเนื้อหาคลอบคลุม 6 ประการ ดังนี้

  • สุขลักษณะของสถานที่ตั้งและอาคารผลิต
  • เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ ที่ใช้ในการผลิต
  • การควบคุมกระบวนการผลิต
  • การสุขาภิบาล
  • การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด
  • บุคลากร
HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point)

HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point)

Hazard Analysis and Critical Control Point หรือ HACCP เป็นระบบการจัดการและประกันคุณภาพด้วยวิธีวิเคราะห์อันตรายและควบคุมจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้สินค้าที่ปราศจากอันตรายจากเชื้อจุลินทรีย์ สารเคมี และสิ่งแปลกปลอมต่างๆ โดยถือเป็นมาตรฐานสากลตามข้อกําหนดของคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร FAO/ WHO (Codex Alimentarius Commission) ที่ประเทศต่าง ๆ สามารถนําแนวทางไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

หลักการของระบบ HACCP ครอบคลุมถึงการป้องกันปัญหาจากอันตราย 3 สาเหตุ คือ

  1. อันตรายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นอันตรายจากเชื้อจุลินทรีย์ที่ทําให้เกิดโรคหรือสารพิษ
  2. อันตรายจากสารเคมี ในทุกขั้นตอนเริ่มตั้งแต่ที่ใช้ในกระบวนการผลิตวัตถุดิบ อาทิ สารเร่งการเจริญเติบโต สารเคมีกําจัดศัตรูพืช และสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อเจือปนในอาหาร เช่น สารกันบูด รวมถึงสารเคมีที่ใช้ในโรงงาน เช่นสารเคมีทำความสะอาดเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ
  3. อันตรายทางกายภาพ ได้แก่ สิ่งปลอมปนต่างๆ อาทิ เศษแก้ว เศษกระจก โลหะ พลาสติก
BRCGS (Brand Reputation through Compliance Global Standard)

BRCGS (Brand Reputation through Compliance Global Standard) 

เดิมทีมาตรฐานสากลเพื่อความปลอดภัยด้านอาหารจัดทำขึ้นโดย The British Retail Consortium (BRC) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เพื่อให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารนำไปปฏิบัติ โดย BRC เกิดจากการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร อาทิ Tesco, Sainsbury’s, Iceland Foods, Waitrose, Safeway, The Co-operative Group, Asda Stores โดยจัดทำระบบมาตรฐาน BRC ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวัดประสิทธิภาพความปลอดภัยในกระบวนการผลิตอาหาร รวมทั้งมีวิธีการติดตามและวัดผลที่ครอบคลุมข้อกำหนดด้านคุณภาพและความปลอดภัยที่มีการปฏิบัติที่สอดคล้องตามกฎหมาย ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ ระบบ HACCP, ระบบบริหารคุณภาพ, มาตรฐานการควบคุมสภาพแวดล้อมของสถานประกอบการ, การควบคุมผลิตภัณฑ์, การควบคุมกระบวนการ, และบุคลากร โดย BRC จะช่วยลดการซ้ำซ้อนจากการตรวจประเมินสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการส่งสินค้าให้กับองค์กรค้าปลีกในสหราชอาณาจักรและสามารถตรวจประเมินได้โดยบุคคลที่สาม

มาใน ปี พ.ศ. 2562 BRC issue 8 ได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก British Retail Consortium (BRC) มาเป็น Brand Reputation through Compliance Global Standard (BRCGS) เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยขึ้นอีกขั้น โดยทำการผลิตผลิตภัณฑ์ภายใต้การจัดการและควบคุมป้องกันให้มีความปลอดภัยต่อการบริโภคเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ คือปลอดภัยจากอันตรายทางกายภาพ อันตรายทางชีวภาพ อันตรายทางเคมี รวมถึงสารกัมมันตรังสีและสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร ซึ่งครอบคลุมอันตรายทั้งที่ปนเปื้อนโดยเจตนาและไม่เจตนา เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าและความปลอดภัยต่อการบริโภค รวมถึงช่วยให้ผู้ผลิตสามารถดำเนินการแก้ไขได้ทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการปนเปื้อนผลิตภัณฑ์

SMETA (The Sedex Members Ethical Trade Audit)

SMETA (The Sedex Members Ethical Trade Audit)

SMETA หรือที่มักจะเรียกกันว่า SEDEX (The Supplier Ethical Data Exchange) เป็นองค์กรที่มาจากการรวมกลุ่มสมาชิกทางธุรกิจทั่วโลกที่มีข้อตกลงร่วมกันที่จะพัฒนาจริยธรรมของกลุ่มสมาชิกผู้จัดจำหน่าย ภายใต้หลักการดูแลจัดการทั้ง 4 ด้านได้แก่ มาตรฐานแรงงาน สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน จริยธรรมทางธุรกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยการตรวจประเมินจะอิงจากข้อกำหนดพื้นฐานด้านจรรยาบรรณทางการค้าหรือ ETI Base Code (Ethical Trading Initiative) ซึ่งจะต้องมีการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างมีจริยธรรมทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะในบริษัทของตนเองเท่านั้นแต่ต้องรวมไปถึงผู้ที่จัดจำหน่ายสินค้าให้กับทางบริษัทด้วย

The ETI Base Code ประกอบไปด้วยข้อกำหนดขั้นพื้นฐานดังนี้

  1. ให้อิสระในการจ้างงาน
  2. เคารพสิทธิ์ในการเข้าร่วมสมาคมและมีสิทธิ์ในการเจรจาต่อรอง
  3. มีการจัดสภาพการทำงานที่ปลอดภัย และถูกสุขลักษณะให้กับพนักงานทุกหน่วยงาน
  4. ไม่มีการใช้แรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
  5. มีการจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นไปตามกฎหมาย และบางตำแหน่งสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด
  6. มีการควบคุมชั่วโมงการทำงานเป็นไปตามกฎหมายสากล คือไม่เกิน 48 ชั่วโมง/สัปดาห์ หากรวม O.T. จะไม่เกิน 60 ชั่วโมง/สัปดาห์
  7. ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เช่น พนักงานสามารถปฏิบัติตามประเพณีประจำชาติ หรือประเพณีทางศาสนาได้
  8. มีการจ้างงานตามเกณฑ์ของกฎหมายกระทรวงแรงงาน มีการทำประกันสังคมให้พนักงานทุกคน ทุกเชื้อชาติ
  9. ไม่อนุญาตให้มีการลงโทษที่รุนแรง ไม่มีการข่มขู่ทางร่างกาย ไม่มีการข่มขู่ด้วยวาจาหรือรูปแบบอื่น ๆ เพื่อการขู่เข็ญ