“พริก” พืชที่ความเผ็ดร้อนให้มากกว่าความแซ่บ

เวลาที่พูดถึงพริก สิ่งแรกที่นึกถึงคือ ความเผ็ดร้อน ซึ่งเกิดจากสารชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า แคปไซซิน (capsaicin) เป็นสารที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ทนได้ทั้งความร้อนและความเย็น ดังนั้นเมื่อนำไปต้มหรือแช่แข็ง ความเผ็ดที่มีจึงไม่สูญเสียไป ส่วนคุณค่าทางสารอาหารนั้นไม่ต้องห่วง เพราะมีทั้งวิตามินและแร่ธาตุ โดยเฉพาะวิตามินซีที่มีมากในพริกสด นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเบต้าแคโรทีน และ วิตามินเอ มีธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส และ ไนอาซินอีกด้วย

ในการจำแนกพริกชนิดต่างๆ นั้น มีทั้งการแบ่งพริกตามขนาดผลและปริมาณความเผ็ด โดยหากแบ่งด้วยขนาด จะเป็นได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ 1) พริกใหญ่  ที่มีความยาวของผลมากกว่า 5-10 เซนติเมตร เช่น พริกชี้ฟ้า พริกเหลือง และ ยาวมากกว่า 10 เซนติเมตรขึ้นไป เช่น พริกหนุ่ม พริกสิงคโปร์ 2) พริกเล็กหรือพริกขี้หนู มีความยาวของผลไม่เกิน 2 เซนติเมตร เช่น พริกขี้หนูสวน พริกกะเหรี่ยง และ ยาวมากกว่า 2-5 เซนติเมตร เช่น พริกห้วยสีทน พริกจินดา เป็นต้น

ส่วนการแบ่งตามความเผ็ด แบ่งได้ 3 ระดับคือ          

1. พริกเผ็ดมาก พบได้ในพริกขนาดเล็ก มักนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย เช่นพันธุ์ตาบาสโก

2. พริกเผ็ดปานกลาง เป็นพริกที่นิยมนำมาประกอบอาหาร เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า พริกจินดา พริกหัวเรือ พริกสีทน พริกช่อ มข. เป็นต้น

3. พริกเผ็ดน้อยหรือไม่เผ็ด มักเป็นพริกที่มีขนาดใหญ่ เนื้อหนา ผลมีลักษณะกลม สั้น มักนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย เช่น พริกหยวก พริกหวาน เป็นต้น

ปัจจุบันมีการนำพริกไปสกัดเป็นยา รวมถึงอาหารเพื่อสุขภาพมากมาย จึงเกิดเป็นคำถามว่า ทำไมพริกถึงมีคุณสมบัติมากมายเหลือเกิน เราจึงรวบรวมความสงสัยยอดฮิตในการบริโภคพริกมาฝากกัน

 

ทำไมกินอาหารเผ็ดจึงช่วยให้เจริญอาหาร? เพราะพริกทำให้ต่อมน้ำลายทำงานมากขึ้นจนไปกระตุ้นปลายประสาทให้สมองส่วนกลางรับรู้การอยากอาหารนั่นเอง

ทำไมพริกถึงช่วยลดน้ำหนัก? เพราะสารแคปไซซินในพริกมีสาร thermogenic ซึ่งเป็นสารก่อความร้อนในร่างกายซึ่งส่งผลดีต่อระบบเผาผลาญ จึงเข้าไปกระตุ้นการเผาผลาญได้ดี ทำให้มีส่วนช่วยให้น้ำหนักของเราลดเร็วขึ้น นอกจากนี้พริกยังมีกรดแอสคอร์บิกที่ช่วยเร่งให้ร่างกายเปลี่ยนไขมันเป็นพลังงานได้

ทำไมพริกถึงมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวด? สารเอ็นดอร์ฟินที่หลั่งออกมาจากการกินพริกนั้น ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดแบบธรรมชาติ ทำให้รู้สึกเจ็บปวดน้อยลง ซึ่งปัจจุบันมีการนำสารแคปไซซินมาเป็นส่วนประกอบของขี้ผึ้งและเจล ใช้ทาบรรเทาอาการปวดบวมบริเวณผิวหนัง รวมทั้งอาการปวดที่เกิดจากเส้นเอ็น เข่าอักเสบ แก้ปวดข้อ ปวดเมื่อยตามตัว รวมทั้งเริมและงูสวัด

ทำไมกินพริกแล้วอารมณ์ดี? นั่นเพราะสารแคปไซซินยังมีอีกหนึ่งความสามารถซ่อนอยู่ คือ การกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด และยังลดการสร้างฮอร์โมนที่ทำให้เครียด ช่วยให้อารมณ์ดี สดชื่น และมีความสุขมากขึ้นได้ 

ทำไมพริกจึงช่วยบำรุงสายตา? เพราะพริกมีวิตามินเอและวิตามินซีมาก อีกทั้งสีของพริกมีเบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีสรรพคุณบำรุงและป้องกันความเสื่อมของจอประสาทตาได้ ยิ่งเมื่อรวมพลังกับวิตามินเอและวิตามินซีที่อยู่ในพริกด้วยแล้ว ก็จัดว่าพริกเป็นอาหารที่ช่วยบำรุงสายตาที่ดีชนิดหนึ่ง

ทำไมหลังกินพริกจึงรู้สึกจมูกโล่ง? เพราะรสเผ็ด ๆ รวมทั้งสารก่อความร้อนในพริกจะไปช่วยลดปริมาณน้ำมูก และสิ่งกีดขวางในทางเดินระบบหายใจ ทำให้จมูกโล่ง ลดอาการคัดจมูก ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น แถมยังบรรเทาอาการไอ ละลายเสมหะที่เหนียวข้น ช่วยให้ขับเสมหะออกมาได้ง่าย

คุณค่าทางโภชนาการของพริกขี้หนูและพริกชี้ฟ้า 100 กรัม อ้างอิงโดย หนังสือคู่มือเกษตรกร มีดังนี้
            พลังงาน 103 กิโลแคลอรี
          ไขมัน 2.4 กรัม
          คาร์โบไฮเดรต 19.9 กรัม
          ใยอาหาร 6.5 กรัม
          โปรตีน 4.7 กรัม
          แคลเซียม 45 มิลลิกรัม
          ฟอสฟอรัส 85 มิลลิกรัม
          เหล็ก 2.5 มิลลิกรัม
          วิตามินเอ 11,050 I.U.
          วิตามินบี 1 (ไธอะมีน) 0.24 มิลลิกรัม
          วิตามินบี 2 (ไรโบเฟลวิน) 0.29 มิลลิกรัม
          วิตามินบี 3 (ไนอะซีน) 2.10 มิลลิกรัม
          วิตามินซี 70 มิลลิกรัม
 

ที่มาข้อมูล : https://www.allkaset.com และ หนังสือคู่มือเกษตรกร