“ถั่วลันเตา” ธาตุเหล็กสูง กินได้ทั้งฝัก

คุณแม่หลายท่านมีถั่วลันเตาเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่ทำให้ลูกๆ กิน จะเพราะความที่มีสีเขียวสดใส หรือกินอร่อยได้ประโยชน์ก็ตามแต่ สุดท้ายแล้วการกินถั่วลันเตาคือ ดีงาม! เพราะไม่เพียงกินดีได้ประโยชน์ แต่เลือกได้ว่าจะกินทั้งเปลือกและกินแต่เมล็ด

บางคนเรียกถั่วลันเตาว่า ถั่วลันเตาเปลือกหนา ถั่วหวาน ถั่วแขก ถั่วลันเตา แต่ที่รู้จักกันแน่ๆ คือคำว่า “ลันเตา” ซึ่งถ้าสืบสาวราวเรื่องกันไปแล้ว ถั่วชนิดนี้ปลูกเพื่อเป็นอาหารมานานหลายพันปี  โดยเชื่อว่าเดิมทีแล้วเป็นถั่วป่าที่มีถิ่นกำเนิดแถวเอเชียตอนกลางหรือบางทีอาจเป็นอินเดีย ซึ่งนักวิชาการให้การยอมรับว่าสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในแถบชายแดนไทยพม่านี่เอง (อ้างอิงจาก สมาคมหมออนามัย "น้ำถั่วลันเตา ละลายลิ่มเลือด") โดยชื่อของถั่วลันเตามาจากภาษาจีนที่เรียกว่า "ห่อหลั่นเตา" ซึ่งหมายถึงฮอลแลนด์ ส่วนคำว่า "เตา" ในภาษาจีนก็แปลว่าถั่ว สรุปว่า ถั่วลันเตาก็คือถั่วที่มาจากฮอลแลนด์

ส่วนประโยชน์ของถั่วลันเตานั้น เด่นๆ ก็ได้แก่

1. เป็นพืชที่มีธาตุเหล็กสูง ดังนั้นคนที่เป็นโรคโลหิตจางกินได้เลย เพราะถั่วลันเตาจะช่วยเสริมธาตุเหล็กให้ร่างกาย ซึ่งธาตุเหล็กเป็นสารอาหารสำคัญและยังพบได้ในฮีโมโกลบิน อันเป็นโปรตีนซึ่งมีหน้าที่คอยลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงยังส่วนต่างๆ ภายในร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการอ่อนเพลียได้ง่าย

2. มีสารต้านอนุมูลอิสระ ในถั่วลันเตามีสารโพลีฟีนอลที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น ฟลาโวนอล แคโรทีนอยด์ และวิตามินซี ซึ่งการค้นคว้าต่างๆ พบว่า สารเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และช่วยป้องกันการทำลายเซลล์จากสารอนุมูลอิสระได้

3. ช่วยลดคอเลสเตอรอล เพราะมีไนอะซิน (Niacin) ที่ช่วยลดการสร้างไขมันไตรกลีเซอไรด์และไขมัน VLDL ซึ่งไขมันชนิดดังกล่าวถูกร่างกายสร้างขึ้นเพื่อคอยทำหน้าที่ลำเลียงไตรกลีเซอไรด์จากตับไปสู่อวัยวะต่างๆ จึงมีผลทำให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ลดปริมาณลงได้ แถมยังเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี (HDL) ให้สูงขึ้นด้วย

4. แก้ปัญหาท้องผูก เพราะมีไฟเบอร์สูง คนที่ระบบการขับถ่ายมีปัญหาหรืออยากคุมน้ำหนัก จัดถั่วลันเตาไว้ในมื้ออาหารรับรองไม่ผิดหวัง เพราะกินแล้วอิ่มท้องนาน และกากใยอาหารช่วยแก้อาการท้องผูก เพราะเข้าไปกระตุ้นระบบขับถ่ายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีไขมันไม่อิ่มตัว ถ้ากินเป็นประจำก็ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ

5. มีโปรตีนสูงกว่าพืชผักทั่วไป จึงทำให้มีรสหวานหน่อยๆ เด็กๆ จึงชอบกินกันมาก ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกๆ รักการกินผัก จะเริ่มต้นด้วยการให้ฝึกกินถั่วลันเตาก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยคุณพ่อคุณแม่อาจเลือกแค่เมล็ดถั่วลันเตามาปรุงอาหาร โดยนำมาประกอบในเมนูต่างๆ หรือแม้แต่นำไปตกแต่งเพิ่มสีสันในอาหารเพื่อเพิ่มความน่ากินก็ได้

สำหรับคนที่อยากกินทั้งฝัก ควรเลือกแบบฝักอ่อนๆ มาปรุงอาหาร โดยนำไปปรุงได้ทั้งผัดกับหมูหรือกุ้ง ลวกจิ้มกินกับน้ำพริก ทำเป็นแกงซดน้ำร้อนๆ ก็อร่อยได้คุณค่าค่ะ

 

คุณค่าทางโภชนาการของถั่วลันเตา ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 81 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 14.45 กรัม
  • น้ำตาล 5.67 กรัม
  • เส้นใย 5.1 กรัมถั่วลันเตาแบบกินเมล็ด
  • ไขมัน 0.4 กรัม
  • โปรตีน 5.42 กรัม
  • วิตามินเอ 38 ไมโครกรัม 5%
  • เบตาแคโรทีน 449 ไมโครกรัม 4%
  • ลูทีนและซีแซนทีน 2,477 ไมโครกรัม
  • วิตามินบี 1 0.266 มิลลิกรัม 23%
  • วิตามินบี 2 0.132 มิลลิกรัม 11%
  • วิตามินบี 3 2.09 มิลลิกรัม 14%
  • วิตามินบี 6 0.169 มิลลิกรัม 13%
  • วิตามินบี 9 65 ไมโครกรัม 16%
  • วิตามินซี 40 มิลลิกรัม 48%
  • วิตามินอี 0.13 มิลลิกรัม 1%
  • วิตามินเค 24.8 ไมโครกรัม 24%
  • ธาตุแคลเซียม 25 มิลลิกรัม 3%
  • ธาตุเหล็ก 1.47 มิลลิกรัม 11%
  • ธาตุแมกนีเซียม 33 มิลลิกรัม 9%
  • ธาตุแมงกานีส 0.41 มิลลิกรัม 20%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 108 มิลลิกรัม 15%
  • ธาตุโพแทสเซียม 244 มิลลิกรัม 5%
  • ธาตุโซเดียม 5 มิลลิกรัม 10%
  • ธาตุสังกะสี 1.24 มิลลิกรัม 13%