‘Plant-based diet’ กินผักสุขภาพดีแถมยังรักษ์โลก

กระแสกินเพื่อสุขภาพนับวันยิ่งมาแรง แต่เดี๋ยวนี้คนเราไม่หยุดอยู่แค่การกินเพราะรักสุขภาพตัวเองเท่านั้น แต่เผื่อแผ่เพิ่มเติมเข้าไปอีกนิดด้วยการกินที่ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมไปในตัว การกินแบบ ‘Plant-based diet’ จึงเกิดขึ้น ซึ่งการกินแบบนี้ ไม่ได้ยากเย็นหรือต้องฝืนใจละทิ้งความชอบบางอย่างในการกิน แต่โฟกัสกับสิ่งที่จะกิน ปริมาณที่จะกินและคิดก่อนกินมากขึ้นอีกนิด แต่ไม่มากไปจนใช้ชีวิตลำบาก

กินแบบ Plant-based คือกินยังไง

พูดง่ายๆ คือ เป็นการกินโดยใช้หลักการผสมผสานสารอาหารที่หลากหลายให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายมากที่สุด โดยเน้นไปที่การกินพืชและผลไม้เป็นหลัก แต่พืชและผลไม้ที่ว่าต้องไม่ผ่านกระบวนการใดๆ มาก่อนเลย ไม่ว่าจะเป็น การสกัด การขัดสี หรือการแปรรูป โดยมีการแบ่งกลุ่มอาหารแบบ ‘Plant-based diet’ เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นภาพและบริโภคตามได้ง่ายขึ้น ดังต่อไปนี้

1 : กลุ่มธัญพืชไม่ขัดสี ไม่ว่าจะเป็นข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโพด หรือลูกเดือย

2 : กลุ่มถั่วชนิดต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นถั่วเขียว ถั่วแดง อัลมอนด์ หรือพวกงา เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน เป็นต้น

3 : กลุ่มผลไม้หากินได้ง่ายอย่างผลไม้ตามฤดูกาลต่างๆ หรือผลไม้ที่มีตลอดปี

4 : กลุ่มผัก เน้นไปที่การกินผักใบเขียวเป็นหลัก

5 : กลุ่มพืชตระกูลหัว จำพวกมันฝรั่ง มันเทศ หรือเผือก

สำหรับเนื้อสัตว์นั้น ไม่ห้าม หากอยากจะงดเว้นไม่กินเลยก็ไม่ว่ากัน หรือหากอยากเพียงลดปริมาณในการกินก็ทำได้ รวมไปถึงปรับพฤติกรรมของตัวเองจากการกินเนื้อแดงมากินปลาแทน โดยที่สัดส่วนของเนื้อสัตว์จะน้อยมากหากเทียบกับปริมาณผัก ทำให้การกินในแบบ ‘Plant-based diet’ ยืดหยุ่นกว่าการกินมังสวิรัติและโหดน้อยกว่าสายวีแกน

กินแบบ Plant-based diet ดียังไง

สิ่งที่ร่างกายจะได้รับกลับมาจากการกินแบบ Plant-based diet คือ ร่างกายดูดซึมสารอาหารและกากใยไปใช้งานได้ทันที เพราะสิ่งที่กินเข้าไปเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่มีการผ่านกระบวนการใดๆ คิดง่ายๆ คือ ไม่มีความซ้ำซ้อนในกรรมวิธีการผลิต ธรรมชาติสร้างสรรค์ผักผลไม้นั้นๆ มาในแบบใด ร่างกายกินไปในแบบนั้น และดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นต่อร่ายกายไปใช้ได้ทันที

ทั้งนี้ มีผลงานวิจัยของ Dr. Dean Ornish และ Dr. John McDonugall ยืนยันว่า การกินอาหารพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง นักวิจัยมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดยังพบว่า ผู้ที่รับประทานผักผลไม้มากกว่าคนทั่วไปจะมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยลงอีก และการเลี่ยงอาหารจากเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง โปรตีนสูง ที่ปรุงด้วยกระบวนการทอดหรือย่างทำให้ลดโอกาสการเกิด AGEs หรือสารที่สร้างความเสื่อมและความชราต่อร่างกายได้ ทั้งนี้ สาร AGEs นับเป็นสารพิษที่อันตรายต่อร่างกาย เพราะจะเข้าไปเร่งกระบวนการเสื่อมภายในร่างกาย ก่อให้เกิดโรคต้อกระจก ภาวะจอประสาทตาเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ รวมทั้งยังสร้างความเสื่อมต่อกระดูก หัวใจ ไต และตับ ซึ่งส่งผลทำให้อายุการใช้งานของอวัยวะต่างๆ ลดลง

นอกจากนี้ การกินพืชผักและผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง ย่อยช้า ดูดซึมช้า ทำให้ร่างกายดึงไขมันหรือพลังงานที่สะสมอยู่เดิมมาใช้ก่อน และด้วยกระบวนการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลที่ช้ากว่าคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว ทำให้ป้องกันโอกาสที่จะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นแบบเฉียบพลันได้นั่นเอง (อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com และ https://krua.co)

กินแบบ ‘Plant-based diet’ สุขภาพดี แล้วรักษ์โลกยังไง

ด้วยรูปแบบการกิน ‘Plant-based diet’ คือกินเนื้อสัตว์น้อยลง เสมือนการไม่สนับสนุนการทำปศุสัตว์ ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับสองของก๊าซเรือนกระจกนั่นเอง ทั้งนี้จากสถิติองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกพบว่า การทำปศุสัตว์เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 2 รองจากภาคพลังงาน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นหากเรากินพืชเป็นหลัก และกินเนื้อสัตว์น้อยลงก็มีส่วนช่วยสร้างสมดุลไม่ให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป

อยากสุขภาพดีแบบที่ยังไงได้เอ็นจอยกับการกิน ค่อยๆ เริ่มปรับพฤติกรรมการกินของตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยการกินแบบ ‘Plant-based diet’ ดูนะคะ

ข้อมูล : http://www.4care.co.th/https://greenworld.or.th/