ต่อสู้กับความร้อนด้วย 4 วิธีพื้นๆ ช่วยเก็บผักในหน้าร้อน

ก่อนเข้าหน้าร้อนทีไร กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศบอกทุกครั้งว่าอุณหภูมิความร้อนจัดๆ จะแตะที่เท่าไหร่ แต่กรมอุตุฯ ไม่เคยบอกว่า เวลาอากาศร้อนมากๆ ต้องดูแลผักสดๆ ที่ช้อปมาแบบไหน ถึงจะทำให้ต่อสู้กับความร้อนได้ แต่วันนี้ KC Fresh หาวิธีง่ายๆ มาบอก

ก่อนอื่นมารู้ถึงปัจจัยที่ผักเสียง่ายกันก่อน  เพราะจริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นผักเหี่ยวไม่ได้อยู่ที่ความร้อนแต่เพียงอย่างเดียว แต่เริ่มต้นตั้งแต่ที่ผักถูกตัดออกจากต้น เพราะผักถูกตัดขาดจากแหล่งน้ำและอาหาร จึงไม่แปลกที่ตัดแล้วผักจะค่อยๆ เหี่ยวเฉาและเน่าเสีย โดยมีอุณหภูมิ ความร้อน แสง ความชื้น อากาศ เป็นปัจจัยเสริม ทีนี้เรามาดูกันค่ะว่า วิธีไหนที่ช่วยเก็บผักในหน้าร้อนได้บ้าง

ถึงบ้านอย่ารอช้านำผักเข้าตู้เย็นอย่างไวในช่องแช่ผัก

อันดับหนึ่งที่ช่วยประคองความสดคือรีบนำเข้าตู้เย็น เพราะยิ่งวางไว้นอกตู้เย็นนานเท่าไร จุลินทรีย์จะยิ่งเจริญเติบโต ทำให้ผักเหี่ยวและเน่าเร็วขึ้น แต่สิ่งที่ต้องระลึกคือไม่ได้นำเข้าตู้เย็นตรงไหนก็ได้ แต่เพราะตู้เย็นมีการจัดชั้นและพื้นที่ให้อุณหภูมิเหมาะกับการแช่ของแต่ละประเภท จึงควรนำผักแช่ไว้ในช่องแช่ผักที่สร้างขึ้นมาเพื่อผักโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นส่วนที่ทำให้มีความชื้นสูงกว่าช่องอื่นๆ  และผ่านการคิดค้นมาแล้วว่าเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเก็บความสดของผัก

เก็บผักให้สดด้วยการใช้วิธีสุญญากาศ

ผักบางชนิดสามารถใช้วิธีการเก็บแบบสุญญากาศได้ เพียงไล่อากาศออกจนหมดและปิดถุงให้สนิท จะทำให้ผักไม่สูญเสียความชื้น รวมถึงป้องกันจุลินทรีย์เจริญเติบโต และการไม่มีอากาศยังช่วยหยุดปฏิกิริยาต่างๆ ที่ใช้ออกซิเจน อย่างออกซิเดชั่นที่ทำให้ผักผลไม้เปลี่ยนสีและสภาพ แถมยังรักษากลิ่นและสารอาหารให้คงอยู่

แต่ก่อนจะเก็บต้องเตรียมการนิดนึง โดยจุดเริ่มต้นคือ ไม่ควรใส่ผักที่ซื้อมาในถุงและซีลสุญญากาศทันที เพราะจะทำให้มีเชื้อโรคติดเข้าไปด้วย ควรเอาเศษดินออก เด็ดใบหรือตัดส่วนที่เน่าเสียของผักออกให้หมด สุดท้ายนำผักไปล้างเพื่อขจัดเชื้อโรคและสารเคมีตกค้าง เมื่อล้างเสร็จ ผึ่งให้แห้งสนิทค่อยนำไปใส่ในถุงสุญญากาศ

แยกประเภทการเก็บผักให้ชัดเจนและถูกต้อง

ไม่เพียงห้ามเก็บผักกับผลไม้อยู่ในที่เดียวกัน แต่ผักบางชนิด อย่างผักใบ ผักหัวอาจต้องเก็บแยกกัน เพราะผักบางชนิดยังสุกไปเรื่อยๆ หลังการเก็บ ซึ่งกลุ่มนี้จะปล่อยฮอร์โมนพืชในรูปของก๊าซออกมา ทำให้ไปกระตุ้นให้ผักเหี่ยวเร็วขึ้น

แต่ถ้ายังคิดไม่ออก ลองมาดู 3 กลุ่มนี้ แล้วทำการแยกนะคะ  

  • ผักที่เน่าเสียง่าย ได้แก่ เห็ด ผักชี ผักกาดหอม ถั่วงอก ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง ชะอม เป็นต้น ผักเหล่านี้จะคงสภาพเดิมอยู่ในระยะเวลาสั้น แม้จะเก็บเข้าตู้เย็น
  • ผักที่เก็บได้ในระยะเวลาจำกัด ตัวอย่างเช่น ผักกาด ผักคะน้า มะเขือเทศ และผักอื่นๆ ผักส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในกลุ่มนี้ ควรเก็บในตู้เย็น
  • ผักที่เก็บไว้ได้นาน เช่น ฟัก แฟง เผือก มัน ฟักทอง เป็นต้น ผักกลุ่มนี้มีเปลือกหนา จึงคงทนต่อการเก็บได้นานกว่าผักใบ ไม่จำเป็นต้องเข้าตู้เย็น

เด็ดใบเน่าเสียทิ้งก่อนเก็บเสมอ

คอนเซ็ปง่ายๆ คือ ถ้าดูแล้วใบไหนเน่าเสีย อย่าได้นิ่งนอนใจ รีบเด็ดทิ้งไปเสียก่อนที่จะลุกลามไปที่ใบอื่นๆ เพราะผักที่เน่าเสีย จะมีจุลินทรีย์ตัวร้ายที่ตั้งหน้าตั้งตาลุกลามไปยังผักสภาพดีที่อยู่ใกล้เคียง และเมื่อกำจัดผักเน่าเสียออกจากตู้เย็นแล้ว ควรเช็ดทำความสะอาดตู้เย็นเพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจหลงเหลืออยู่ด้วย เพียงใช้น้ำผสมน้ำส้มสายชูเช็ดด้านในของตู้เย็นค่ะ