“ใบ-ผิว-น้ำ” ประโยชน์ล้วนๆ จาก “มะกรูด”

มะกรูดลูกเขียวๆ ผิวขรุขระ แท้จริงแล้วเป็นญาติกับส้มและมะนาวนะคะ เพราะมะกรูดเป็นพืชตระกูลส้มและมะนาว สำหรับคนไทยนิยมใช้ใบและผิวเป็นส่วนผสมของพริกแกง แต่มะกรูดยังมีความสามารถด้านความงามและการทำหน้าที่เป็นพืชสมุนไพรด้วยนะคะ

สิ่งที่คนส่วนใหญ่รู้เกี่ยวกับสรรพคุณของมะกรูดคือ ใบและน้ำสามารถใช้ดับกลิ่นคาวในอาหาร รวมถึงแต่งกลิ่นคาวหวานของอาหารได้  ขณะเดียวกันก็มีการนำเปลือกของมะกรูดมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางบางชนิดที่เห็นกันบ่อยๆ คือสบู่และแชมพู รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงและแมลง สำหรับในตำรายาไทย ผิวมะกรูดจัดอยู่ใน 1 ในเปลือกส้ม 8 ประการ ที่มีสรรพคุณแก้ลม แก้เสมหะ และใช้ปรุงยาหอม

ถ้ามองในเชิงวิทยาศาสตร์ ผลมะกรูดมีน้ำมันหอมระเหยแทรกอยู่ทั้งเปลือกและใบ โดยเปลือกจะมีน้ำมันหอมระเหยประมาณ 4% ในใบจะมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ประมาณ 0.08% และยังสกัดยากกว่าน้ำมันในเปลือกอีกด้วย แต่ก็ยังมีจุดเด่นตรงที่น้ำมันจากใบมีกลิ่นแรงกว่า จึงนิยมใช้ทั้งน้ำมันมะกรูดทั้งจากใบและเปลือก

สารสกัดจากมะกรูดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยฟื้นฟูตับ ต้านอนุมูลอิสระของตับกลับมาอยู่ในระดับปกติ ช่วยปรับสภาพเส้นผม  ต้านเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา และอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น...

  • ช่วยต้านอนุมูลอิสระ จึงมีส่วนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง
  • น้ำมันหอมระเหยผ่อนคลายความเครียด คลายความกังวล
  • เป็นยาบำรุงหัวใจ
  • แก้ลม หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ
  • แก้อาการไอ ขับเสมหะ
  • แก้อาการเลือดออกตามไรฟัน
  • ช่วยขับลมในลำไส้ แก้อาการจุกเสียด ท้องอืด แน่นท้อง และช่วยขับระดู
  • ช่วยบำรุงหนังศีรษะและบำรุงเส้นผมให้แข็งแรง
  • แก้ปัญหากลิ่นเท้าเหม็น มีกลิ่นอับเชื้อรา                                                                                               

แม้จะมีข้อดีอยู่มาก แต่น้ำมะกรูดมีความเป็นกรดสูง จึงควรระมัดระวังการรับประทานขณะท้องว่าง เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้

สิ่งที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนคือ มะกรูดคือหนึ่งในไม้มงคลที่นิยมปลูกไว้บริเวณบ้านทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยเชื่อว่าจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุข