“ต้นหอมญี่ปุ่น” อวบ ใหญ่ หวานปรุงได้หลายเมนู

ไม่ต้องเป็นคออาหารญี่ปุ่นก็อินไปกับการกินต้นหอมญี่ปุ่นต้นใหญ่ๆ ได้ เพราะนอกจากจะใหญ่กว่าต้นหอมไทยแล้ว ยังมีรสชาติที่ต่างกัน พร้อมคุณค่าสารอาหารที่บอกเลยว่า มากมายสมความใหญ่ซะด้วย

แค่มองกันด้วยตาก็เห็นถึงความต่างในเรื่องขนาดของต้นหอมญี่ปุ่นและต้นหอมไทย    โดยเฉพาะตรงโคนต้น จะไม่ป่องเป็นกระเปราะแบบต้นหอมไทย แต่จะขาวๆ ทรงตรงๆ ละม้ายคล้ายต้นหอมฝรั่งมากกว่า ส่วนเรื่องของรสชาตินั้น จะหวานกว่าบ้านเราและมีกลิ่นฉุนน้อยกว่าค่ะ

สำหรับการนำมาปรุงอาหาร คุณแม่บ้านทั้งหลายนิยมใช้ต้นหอมญี่ปุ่นชนิดที่พูดได้เลยว่า คุ้มสุดๆ เพราะนอกจากจะใช้เป็นส่วนผสมเพื่อเพิ่มรสชาติให้กับอาหารแล้วยังนำมาตกแต่งอาหารบนจานๆ ได้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าส่วนที่นิยมนำมาใช้ตกแต่งมักจะเป็นส่วนของลำต้นสีขาว ที่จะนำมาซอยเป็นเส้นฝอย ใช้โรยตกแต่งอาหาร

ขณะที่บางคนก็สับส่วนลำต้นนี้หยาบๆ และใช้เป็นส่วนผสมในการทำไส้เกี๊ยวซ่า ก็จะยิ่งเพิ่มรสชาติหวานๆ ให้กับไส้อย่างกลมกล่อม นอกจากนี้ยังมีการนำไปหั่นเป็นท่อนๆ แล้วต้มเป็นน้ำซุปชนิดต่างๆ สำหรับใบสีเขียวจะนำไปซอยละเอียดและผสมในเครื่องปรุงอาหารต่างๆ เพื่อให้มีกลิ่นหอมและรสชาติดียิ่งขึ้น

สำหรับคุณค่าสารอาหารที่เราเกริ่นไปว่า มากมายสมชนาดก็มีเพียบจริงๆ ไล่เรียง เพราะต้นหอมญี่ปุ่น อุดมไปด้วยแร่ธาตุหลายชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก สังกะสี แมงกานีส เบต้าแคโรทีน เรติน วิตามินซี และวิตามินเค

ซึ่งแร่ธาตุทั้งลายมีส่วนช่วยป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบ ลดคอเลสเตอรอล ความดันโลหิต ช่วยในการขับปัสสาวะ และขับกรดยูริค และรสหวานของต้นหอมญี่ปุ่นก็ให้โปรตีนสูงอย่างไม่น่าเชื่อ

 แถมท้ายให้อีกนิด ในเรื่องการนำต้นหอมญี่ปุ่นมาปรุงอาหาร จะมีการหั่นที่ต่างกันไป ซึ่งสำหรับคนญี่ปุ่นนั้น การหั่นที่ต่างกันไปก็จะใช้ปรุงกับเมนูต่างชนิดกันด้วยนะคะ

  • การหั่นเป็นท่อนครึ่งหนึ่ง นิยมหั่นเพื่อกินสด
  • ซอยเป็นแว่นบาง มักนำไปใส่ซุป ไม่ก็ในน้ำจิ้มพอนสึและโรยหน้า
  • หากหั่นเฉพาะโคนสีขาว จะนิยมนำไปใส่หม้อไฟ ไม่ก็นำไปทอดหรือย่าง
  • หั่นเฉียง จะนำไปใช้กับซุปมิโซะและผัด
  • หั่นเส้นยาว ใช้ใส่กับราเมนและตกแต่งอาหาร