“กุยช่าย” จะขาวหรือเขียวก็ประโยชน์เต็มร้อย

หลายคนอาจคุ้นเคยกับ “กุยช่าย” ผักสวนครัวอีกชนิดที่จัดได้ว่าเป็นผักสมุนไพร โดยเฉพาะในเมนูผัดไทยที่มักจะทั้งใส่และเสิร์ฟผักชนิดนี้มาด้วยเสมอ แล้วเคยสงสัยไหมคะว่า นอกจากความอร่อยและมีกลิ่นเฉพาะตัวแล้ว ผักชนิดนี้มีประโยชน์อะไรบ้าง

ทำความรู้จัก ‘กุยช่าย’ กันก่อน

กุยช่ายมีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียตะวันออก แถบเทือกเขาหิมาลัย ประเทศอินเดีย ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น มีชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘Garlic chives’  โดยถูกจัดให้เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับพลับพลึง และมีชื่อเรียกต่างๆ กันไปตามแต่ละท้องถิ่นเช่น ผักไม้กวาด, ผักแป้น, กูไฉ่ เป็นต้น

‘กุยช่าย’ มีประโยชน์ตั้งแต่ ต้น ใบ ราก เมล็ด ดอก โดยสามารถใช้รักษาฟิ้นฟูร่างกายจากอาการเจ็บป่วยได้ดังนี้

รักษาอาการหวัด : ใบกุยช่ายมีฤทธิ์ในการรักษาไข้หวัด ทำให้ไข้ลด คนเป็นหวัดจึงนิยมนำใบกุยช่ายมากิน เพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งว่ากันว่าให้ผลลัพธ์ดีไม่แพ้การกินยาลดไข้เลยทีเดียว

ดีกับว่าที่คุณแม่ : อยากมีน้ำนมเยอะ และอยากลดอาการแพ้ท้องไม่ควรมองข้ามกุยช่ายเด็ดขาด เพราะกุยช่ายช่วยบำรุงน้ำนมและลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการแพ้ท้องลงได้ และยังทำให้ว่าที่คุณแม่เจริญอาหารมากขึ้นอีกด้วย ส่วนถ้ากลัวเรื่องของกลิ่นจะมาทำให้กินยาก ขอบอกเลยว่า นำกุยช่ายไปเป็นส่วนประกอบในขนมก็ช่วยลดกลิ่นได้ทางหนึ่ง

ปัญหาถ่ายยากจะทุเลา : เพรากุยช่ายมีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยให้การขับถ่ายคล่องมากขึ้น ทั้งยังลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ได้เป็นอย่างดี ฉะนั้นใครที่มีปัญหาท้องผูกบ่อยๆ ขอแนะนำให้ใช้กุยช่ายเป็นตัวช่วย

ความดันสูงควรกิน : เพราะมีสารอัลลิซินเป็นพระเอก จึงช่วยลดและควบคุมความดันได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยกำจัดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในเลือดให้หมดไป ซึ่งเป็นผลให้ความดันลดลงได้ จึงเหมาะกับคนที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง แต่ไม่เหมาะกับคนที่มีความดันต่ำอยู่แล้ว เพราะจะยิ่งทำให้ความดันลดต่ำลงไปกว่าเดิม

ตกขาวผิดปกติก็กินได้ : จะเป็นปัญหาตกขาวมีกลิ่นไม่พึงประสงค์หรือสีออกเหลืองผิดปกติ กุยช่ายก็ช่วยได้ เพียงนำมาต้มรวมกับน้ำตาลอ้อยและไข่ไก่ ดื่มบ่อยๆ จะทำให้อาการตกขาวผิดปกติบรรเทาลงได้

แม้ว่ากุยช่ายจะเป็นผักที่กินง่าย ปลูกเองก็ไม่ยาก แต่ในการบริโภคก็ต้องระวัง เนื่องจากกุยช่ายมีสรรพคุณโดยรวมคือ ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้ตัวร้อนและร้อนในได้ นอกจากนี้ไม่ควรดื่มสุราร่วมกับการกินกุยช่าย เพราะกุยช่ายทำให้ร่างกายร้อนขึ้นและสุราก็มีฤทธิ์ร้อนเช่นกัน อาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ นอกจากนี้ใครที่มีปัญหาธาตุอ่อน ถ่ายท้องง่าย ไม่ควรกินกุยช่าย โดยเฉพาะกุยช่ายแก่เพราะมีกากใยอาหารมาก จะทำให้ระบบลำไส้ทำงานหนักมากขึ้นนั่นเอง

 

หมายเหตุ : การกินกุยช่ายไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใดนั้น จะเป็นเพียงตัวเสริมให้สุขภาพแข็งแรง ฟื้นฟูและบรรเทาบางอาการเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากเกิดอาการเจ็บป่วยควรไปพบแพทย์เสมอ  

 

-------------------------------------

คุณค่าทางโภชนาการของต้นกุยช่าย ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 28 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 4.1 กรัม
  • เส้นใย 3.9 กรัม
  • ไขมัน 0.3 กรัม
  • เบตาแคโรทีน 136.79 ไมโครกรีม
  • ธาตุแคลเซียม 98 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 1.5 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 46 มิลลิกรัม

 

ข้อมูล : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, หมอชาวบ้าน