“สะระแหน่” ไม่ใช่ “มินต์” แต่เป็นญาติห่างๆ กัน

มีหลายคนสงสัยว่า “สะระแหน่” คือ “มินต์” ใช่ไหม แต่ทำไมพอซื้อเป็นกระถางมาปลูกที่บ้านแล้วเอาไปทำอาหารกลับไม่ใช่อย่างที่คิด คำถามคือ ที่ซื้อมาเนี่ย เป็น “สะระแหน่” หรือ “มินต์” ?? อย่าเพิ่งงงไปค่ะ เพราะสองสิ่งนี้มีหน้าตาภายนอกใกล้เคียงกันแต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

“สะระแหน่เป็นคนละชนิดกับมินต์” มีกลิ่นเฉพาะตัวและให้ความหอมต่างจากมินต์ที่นำมาทำเป็นส่วนผสมในยาสีฟันหรือขนม เพราะมินต์ที่ใช้แต่งกลิ่นในอาหารหรือนำมาเป็นส่วนประกอบในหมากฝรั่งและลูกอม รวมถึงเครื่องดื่มต่างๆ โดย มินต์ (Mint) เป็นสกุลหนึ่งในวงศ์กะเพรา มีสปีชีส์ประมาณ 13 - 18 สปีชีส์ จึงทำให้บางคนเกิดอาการสับสนได้ เพราะแค่ในกลุ่มของมินต์ด้วยกันยังมีเพียบ ทั้งมินต์ที่เอาไว้กิน มินต์ที่เป็นไม้ประดับ เมื่อหน้าตามาคล้ายกับสะระแหน่ จึงไม่แปลกที่จะยิ่งทำให้มึนไปกันใหญ่ ดังนั้น แจ้งความต้องการกับคนขายต้นไม้ให้ชัด ว่าคุณต้องการซื้อสาระแหน่มาเป็นพืชผักสวนครัวปรุงอาหาร หรืออยากได้มินต์ประเภทใด

 

มาโฟกัสที่ “สะระแน่” กันดีกว่า

สะระแหน่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในยุโรป จากนั้นแพร่กระจายพันธุ์ไปทั่วทั้งยุโรป อเมริกาเหนือ และภูมิภาคอื่นๆ ของโลกโดยเฉพาะเขตร้อนและเขตอบอุ่น โดยได้พัฒนาสายพันธุ์เองตามธรรมชาติเพื่ออยู่รอดตามสภาพอากาศของถิ่นต่างๆ ที่กระจายพันธุ์ไปจนกลายมาเป็นสะระแหน่สายพันธุ์ต่างๆ เช่น สะระแหน่ไทย, สะระแหน่ฝรั่ง, สะระแหน่ญวน เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทยนั้น เชื่อว่าถูกนำเข้ามาในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยชาวอิตาเลียนชื่อนายสะระนี ด้วยเหตุนี้จึงสันนิษฐานว่าชื่อ “สะระแหน่” มาจากชื่อ “นายสะระนี” นั่นเอง (อ้างอิง : https://www.disthai.com/)

“สะระแหน่” เป็นพืชในตระกูลวงศ์มินต์และวงศ์กะเพรา ใบจึงมีลักษณะคล้ายกับใบพืชในตระกูลมินต์ แต่จะมีกลิ่นหอมคล้ายใบมะนาว  อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ทั้งเบต้าแคโรทีน วิตามินบี 1, บี 2, บี 3, วิตามินซี,  ธาตุแคลเซียม, ธาตุฟอสฟอรัส, ธาตุเหล็ก และยังให้พลังงาน 47 กิโลแคลอรี่ (ใน 100 กรัม) โดยเวลาใช้งาน จะนิยมใช้ใบสดและยอดอ่อน ซึ่งจะได้สรรพคุณที่ดีกว่าใบแห้ง

ในใบและลำต้นของสะระแหน่มีน้ำมันหอมระเหยที่มีสรรพคุณเป็นยา ช่วยดับร้อน ถอนพิษไข้ ขับลม ขับเหงื่อ รักษาอาการหวัดลมร้อนใช้ผสมยาหรือยาอมเพื่อให้เย็นชุ่มคอ ซึ่งปัจจุบันมีการสกัดน้ำมันหอมระเหยในใบสะระแหน่ด้วยแอลกอฮอล์ออกมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ เรียกว่า “เหล้าสะระแหน่” ใช้เป็นยาน้ำแก้อาการปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ จุกเสียด

ในตำรายาไทย มีการใช้ประโยชน์จากสะระแหน่ในการขับลม โดยใช้ใบสดกินเป็นยาขับลม เพราะใบสะระแหน่มีสารประกอบจำพวกเมนทอลอยู่มาก มีรสร้อนนิดๆ กินเป็นยาขับลมได้ดี ขณะที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าสะระแหน่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร และมีส่วนกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำดีในร่างกาย ช่วยย่อยอาหารได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอาหารประเภทไขมัน

ประโยชน์ของสะระแหน่ยังมีอีกมากมาย โดยเฉพาะกับการช่วยบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน โดยได้มีการวิจัยจนได้ผลสรุปว่า หากกินน้ำมันสะระแหน่ชนิดแคปซูลนาน 4 สัปดาห์ อาการลำไส้แปรปรวนจะลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้กินน้ำมันสะระแหน่ นอกจากนี้การศึกษาในไต้หวันยังพบว่า อาสาสมัครที่กินน้ำมันสะระแหน่ชนิดแคปซูลก่อนอาหาร 15-30 นาที มีอาการท้องอืดและมีกรดแก๊สในกระเพาะอาหารลดลง และยังพบว่าผู้ป่วยมากกว่า 80% มีอาการปวดในช่องท้องลดลงด้วย

           

แม้แต่กลิ่นก็มีประโยชน์

แม้สะระแหน่จะไม่ได้มีกลิ่นหอมเย็นเทียบเท่ากับใบมินต์ได้ แต่กลิ่นน้ำมันหอมระเหยในใบสะระแหน่กลับมีประสิทธิภาพช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดและมีสรรพคุณระงับปวดศีรษะได้ โดยใช้สะระแหน่ทั้งต้นประมาณ 500 กรัม โขลกจนละเอียด แล้วนำไปต้มกับน้ำเพื่อแยกเอาส่วนน้ำมันออก จากนั้นใช้น้ำมันสะระแหน่ที่ได้มานวดคลึงขมับจะช่วยบรรเทาอาการเวียนหัวได้

นอกจากนี้กลิ่นหอมจากสารเมนทอลในใบสะระแหน่ยังช่วยให้รู้สึกสดชื่น บรรเทาอาการอาการคลื่นไส้ โดยใช้ใบสด 1 กำมือ โขลกจนละเอียดแล้วคั้นเอาแต่น้ำมาผสมกับน้ำอุ่น 1 แก้ว จิบอุ่น ๆ แก้อาการคลื่นไส้ วิงเวียน และหากมีอาการหวัดและคัดจมูก แล้วได้ดมกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยสะระแหน่ จะที่ช่วยลดอาการอักเสบในเยื่อบุจมูก บรรเทาอาการหลอดลมหดตัว ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกจากหวัด และอาการหอบหืดได้ด้วย

ประโยชน์สะระแหน่เยอะขนาดนี้ เก็บเกี่ยวมาใช้ได้ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ ขอเพียงอย่างเดียวคือ มั่นใจแน่นอนนะว่า ที่ช้อปปิ้งมาคือ ‘สะระแหน่’ ไม่ใช่ ‘มินต์’ นะคะ

 

คุณค่าทางโภชนาการของสะระแหน่ไทย (ใบ 100 กรัม)

  • พลังงาน 47 แคลอรี
  • โปรตีน 3.7 กรัม
  • ไขมัน 0.6 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 6.8 กรัม
  • แคลเซียม 40 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 7 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 4.8 มิลลิกรัม
  • วิตามิน บี 3 0.7 มิลลิกรัม
  • วิตามิน เอ 16,585 หน่วย
  • วิตามิน B 1 0.13 มิลลิกรัม
  • วิตามิน B2 0.29 มิลลิกรัม
  • วิตามิน ซี 88 มิลลิกรัม

 

ข้อมูล : https://cheevitcheeva.com/ , https://medthai.com/ และ https://www.disthai.com/)