ว่ากันด้วยเรื่องของ “กะเพรา”

กะเพา, กะเพรา หรือ กระเพรา แบบไหนเขียนถูก ส่วนใหญ่ยังสับสน ความจริงแล้ว ที่เขียนถูกตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ‘กะเพรา’ นะคะ ซึ่งการเขียนให้ถูกต้องก็สำคัญพอๆ กับการรู้จักประโยชน์ในการบริโภคกะเพราด้วยนะคะ

ย้อนไปมากกว่า 5,000 ปีมาแล้ว ที่การแพทย์อายุรเวทและศาสนาฮินดูมีการใช้กะเพราเป็นพืชสมุนไพร โดยเฉพาะประเทศอินเดีย ถือว่ากะเพราเป็นยารักษาโรคได้ทุกโรค ถึงขนาดจัดให้กะเพราเป็นราชินีแห่งสมุนไพรที่สามารถใช้ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจได้ โดยเชื่อกันว่ากะเพรามีคุณสมบัติในการปรับธาตุ ช่วยรักษาภาวะสมดุลหลายกระบวนการของร่างกาย ทั้งยังช่วยให้เผชิญความเครียด ส่งเสริมสภาพจิตใจให้ดีขึ้นเพียงได้กลิ่นหอมๆ ของกะเพรา

 

กะเพรามี 2 ชนิด

กะเพรา จัดอยู่ในกลุ่มพืชล้มลุกที่มีความสูงของต้นประมาณ 30-60 เซนติเมตร มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ กะเพราแดงและกะเพราขาว โดยกะเพราแดงจะมีลำต้นสีแดงอมเขียว กะเพราขาวมีลำต้นสีเขียวอมขาว นิยมนำกะเพราแดงมาทำยา ส่วนถ้าจะทำอาหารนิยมใช้กะเพราขาวเป็นหลัก

แม้จะมีความนิยมในการนำไปใช้งานต่างกัน แต่กะเพราทั้งสองชนิดยังมีจุดร่วมกันในเรื่องของการให้ประโยชน์กับร่างกายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น ป้องกันหวัด ขับลมในกระเพาะอาหาร แก้จุกเสียดแน่นท้อง แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน และยังลดระดับไขมันในร่างกาย ลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคเบาหวาน รวมถึงมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด และช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาและวิจัยจนพบถึงประโยชน์มากมายของกะเพรา ที่อาจเป็นแนวทางในการนำไปพัฒนาต่อยอดการรักษาโรคต่างๆ ได้ เช่น

-  fixed oil จากกะเพรามีฤทธิ์ลดความดันเลือด ซึ่งอาจมีผลจากฤทธิ์ขยายหลอดเลือดส่วนปลาย และเชื่อว่ามีคุณสมบัติยับยั้งการเกาะกันของเกล็ดเลือด เพิ่มระยะเวลาแข็งตัวของเลือด

- หากตำใบกะเพราผสมเข้ากับเหล้าขาวแล้วนำมาทาบริเวณที่ถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย ว่ากันว่าจะช่วยแก้พิษได้แล้ว แต่ห้ามนำส่วนผสมที่ได้มากินเด็ดขาด เพราะทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารได้

- สารสกัดจากกะเพราช่วยลดการหลั่งกรดเพิ่มการหลั่งสาร และป้องกันการถูกทำลายของเยื่อบุกระเพาะอาหารได้

- ช่วยขับลมในท้องทารก โดยใช้น้ำต้มใบกะเพรา 2-3 หยด ผสมน้ำนมให้ทารกดื่ม จะทำให้ทารกสบายท้อง เพราะน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากกะเพราช่วยขับลมง

- มีการศึกษาพบว่า กะเพรามีฤทธิ์ต้านการทำงานของเอนไซม์ค็อกซ์-1 (Cox-1) และค็อกซ์-2 (Cox-2) เหมือนยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ซึ่งนิยมใช้รักษาโรคข้ออักเสบ เนื่องมาจากสารยูจีนอล cirsillenol, cirsimaritin, Isothymonin, Apigenin, rosmarinic acid ในน้ำมันกะเพรา มีฤทธิ์ลดการอักเสบโดยยับยั้งการสังเคราะห์พรอสตาแกลนดิน (prostaglandin)

- ในประเทศอินเดียมีประวัติการใช้น้ำชงช่อดอกกะเพราดื่มรักษาเบาหวาน และใช้ชาชงจากใบดื่มเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

- ในประเทศปากีสถานกินผงใบกะเพรามื้อละ 21 กรัม วันละ 2 ครั้ง เพื่อรักษาเบาหวาน

- คุณแม่ที่คลอดลูกแล้ว ต้องไม่พลาดเมนูกะเพรา เพราะช่วยให้มีน้ำนมมาก 

- งานวิจัยของประเทศไทยพบว่า น้ำมันหอมระเหยจากกะเพรา ซึ่งมีสารยูจีนอล แกมม่าคาร์โยฟิลีน และเมททิลยูจีนอลเป็นองค์ประกอบสำคัญ มีฤทธิ์ต้านการเติบโตของเชื้อสิว Propionibacterium acnes ซึ่งจะสามารถนำไปพัฒนาเป็นเพื่อการรักษาสิว

- ใช้กะเพราไล่ยุงได้ เพียงนำใบกะเพราและกิ่งมาขยี้จนน้ำมันหอมระเหยออกมาแล้วนำมาวางไว้ใกล้ตัว แค่นี้ก็ช่วยไล่ยุงและแมลงต่างๆ ได้

           

เห็นไหมคะว่ากะเพราที่กินอยู่ทุกวันไม่ได้แค่ทำให้เมนูต่างๆ มีความอร่อยเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในทางการแพทย์และการใช้ชีวิตประจำวันของเราอีกด้วย แค่ใช้ให้ถูกวิธี คัดสรรและมั่นใจในสิ่งที่แพทย์และนักวิจัยได้คิดค้นมาแล้วว่า ใช้ดูแลสุขภาพได้จริงในแบบไหนบ้าง คุณก็จะรับคุณค่าจากกะเพราไปแบบเต็มๆ แน่นอนค่ะ

 

คุณค่าทางโภชนาการ :

กะเพราอุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินเอ และเบต้าแคโรทีน  รองลงมา โดยกะเพรา 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

  • โปรตีน 4.2 กรัม
  • ไขมัน 0.5 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรท 2.3 กรัม
  • วิตามินซี 83 มิลลิกรัม
  • เบต้าแคโรทีน 2.5 มิลลิกรัม
  • โครเมียม 2.9 ไมโครกรัม
  • ทองแดง 0.4 ไมโครกรัม
  • สังกะสี 0.15 ไมโครกรัม
  • วาเนเดียม 0.54 ไมโครกรัม
  • เหล็ก 2.32 ไมโครกรัม
  • นิกเกิล 0.73 ไมโครกรัม

 

ข้อมูล : https://www.honestdocs.co/ และ https://www.disthai.com/)