“ฟักเขียว” ผักลูกโตเก็บได้นานกินได้ทุกวัย

กินเมนูที่มีฟักเขียวเป็นวัตถุดิบหลักมาก็มากมาย แต่ไม่เคยรู้ลึกๆ เกี่ยวกับฟักเขียวสักนิด วันนี้ KC Fresh นำข้อมูลมาให้รู้กันค่ะ กินฟักเขียวครั้งต่อไป จะได้กินแบบมีความรู้ บริโภคแบบตรงความต้องการนะคะ

ความที่ฟักเขียวสามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศ จึงมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่นต่างๆ ดังนี้ค่ะ

  • ภาคเหนือ – ฟักขี้หมู, ฟักจิง, มะฟักขม, มะฟักหม่น, มะฟักหม่นขม
  • ภาคอีสาน – บักฟัก,บักโต่น
  • ภาคกลาง – ฟักขาว, ฟักเขียว, ฟักจีน, แฟง
  • ภาคใต้ – ขี้พร้า
  • แม่ฮ่องสอน – มะฟักหอม
  • ชาวกะเหรี่ยง/แม่ฮ่องสอน – ดีหมือ, ลุ่เค้ส่า
  • จีนแต้จิ๋ว – ตังกวย, ตี่จือ

ส่วนที่คุ้นๆ หรือสับสนว่า ฟัก กับ แฟง คือสิ่งเดียวกันไหม KC Fresh เคยเล่าไปแล้วใน บทความ ฟัก-แฟง คือสิ่งเดียวกัน หากใครยังไม่เคยรู้ คลิกเข้าไปอ่านกันได้เลยนะคะ

ความนิยมในการนำฟักเขียวมาปรุงอาหารในบ้านเรานั้นไม่จำกัดค่ะ ทั้งใช้ประกอบอาหารเป็นหลักในเมนูคาวและหวาน เช่น ต้ม ผัด แกง หรือแม้แต่ทำเป็นขนมหวานในช่วงเทศกาลต่างๆ ที่สำคัญสามารถกินได้ทั้งแบบดิบและแบบสุก และกินได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่ โดยผลอ่อนจะมีรสชาติที่เข้มกว่าผลแก่ และมีน้ำมากกว่า

นอกจากนี้ ยอดอ่อนของฟักเขียวยังสามารถนำมาลวกหรือต้มกับกะทิ กินคู่กับน้ำพริกได้ด้วย ส่วนใบอ่อนและตาดอกฟักเขียวยังนำไปนึ่งหรือใส่แกงจืดเพื่อช่วยเพิ่มรสชาติได้ แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาในเรื่องระบบขับถ่ายและมีอาการแน่นหน้าอกไม่ควรรับประทาน

ปิดท้ายกันหน่อยด้วยเคล็ดไม่ลับการเลือกซื้อฟักเขียว นั่นคือ ควรเลือกฟักที่มีเนื้อแข็ง เพราะเมื่อนำมาปรุงอาหารจะมีรสหวานกรอบ ส่วนลักษณะภายในของฟักที่ดีควรจะมีขอบของเยื่อเป็นสีเขียวเข้มแล้วค่อยๆ จางเป็นสีขาวจนถึงตรงกลาง

สำหรับวิธีเก็บรักษาฟักเขียวให้อยู่ได้นานๆ คือ ทาขี้ผึ้งเคลือบผิวภายนอกจะสามารถเก็บไว้ได้นานเป็นเดือนๆ ถึงค่อนปีเลยทีเดียว และหากซื้อมาแล้วทำกินไม่หมด เมื่อผ่าผลแล้วให้นำส่วนที่เหลือมาทาปูนแดงที่กินกับหมาก โดยทาตรงรอยผ่าฟักชิ้นนั้น ก็จะสามารถเก็บไว้รับประทานได้อีกนานหลายวันค่ะ