ชอบ “เผือก” ต้องรู้ไว้

พืชหัวอย่างเผือกบางทีก็สร้างความหนักใจให้เราๆ ท่านๆ เหมือนกัน เพราะกว่าจะได้มาปรุงเป็นอาหาร หรือทำขนมก็ต้องผ่านด่านตั้งมากมาย เริ่มตั้งแต่เลือกซื้อ ปอกเปลือก หรือการเช็คให้ชัวร์ว่าสุกจริงแบบกินไปไม่มวนท้อง วันนี้ KC Fresh ไล่เรียงเทคนิกต่างๆ มาฝากกัน

เริ่มที่การเลือก “เผือก”

ส่องให้แน่ใจว่าเผือกหัวนั้นต้องตาต้องใจจริงหรือเปล่า นั่นคือ ผิวเรียบ ไม่มีรอยแมลงเจาะ จากนั้นหยิบขึ้นมาวางบนมือเพื่อวัดน้ำหนักด้วยความรู้สึก เผือกที่ดีควรมีน้ำหนักกลางๆ ไม่หนักเหมือนตอนที่เลือกหัวกะหล่ำปลี หรือเบาเกินไปจนรู้สึกว่ากลวงๆ เมื่อได้แล้วเทสว่าเนื้อแน่นดีไหมด้วยการใช้นิ้วมือกดลงไป เผือกที่ดีคือเมื่อกดแล้วเนื้อไม่ยุบตามนิ้ว เพียงเท่านี้ก็จะได้เผือกที่ไม่แก่ เนื้อเนียน แต่ถ้าเลือกเผือกที่หั่นสำเร็จแล้ว ให้ดูว่าเนื้อเผือกนั้นมีเส้นใยสีม่วงอยู่มากๆ จะดีที่สุด

ทั้งนี้ทั้งนั้น การเลือกเผือกอาจไม่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกที่เลือกซื้อ เพราะเปอร์เซนต์จะเลือกได้ดี ต้องจับเผือกหลายๆ ลูก ไม่ฟันธงฉับเลือกเผือกในลูกแรกที่ปักใจ

ล้าง “เผือก” ให้ดีไม่ใช่แค่ผิวภายนอก

เทคนิกการล้างเผือกที่ควรใส่ใจไม่ใช่การนำน้ำสะอาดไปล้างคราบดินหรือคราบฝุ่นที่ผิวภายนอกเท่านั้น แต่คือการล้างหลังปอกด้วย เพราะเปลือกของเผือกจะมียาง ทำให้คันเมื่อสัมผัสโดน ซึ่งถ้าปอกไม่เป็น เวลานำมาปรุงอาหารรับประทานจะเกิดอาการคันได้  ซึ่ง KC Fresh หาวิธีปลอดภัยมาฝาก 2 ทาง ดังนี้ค่ะ

  • วิธีที่ 1 นำเผือกที่ยังไม่ปอกเปลือกไปย่างไฟ เพื่อกำจัดขนและยางที่เป็นต้นเหตุให้คันมือ เมื่อย่างแล้วจึงนำมาปอกตามปกติ
  • วิธีที่ 2 ล้างเผือกทั้งหัวให้สะอาด เช็ดให้แห้ง แล้วปอกเปลือกให้หนาหน่อย เพื่อปล่อยให้ยางเหนียวไหลซึมออกจากเนื้อ จากนั้นแช่ในน้ำปูนใสหรือน้ำส้มสายชูประมาณครึ่งชั่วโมง หรือจนกว่ายางเหนียวจะตกตะกอน จึงล้างเผือกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งก่อนนำไปประกอบอาหาร

แต่ถ้าใครที่พลาดไปโดนยางเผือกแล้วละก็ ให้ถูยางออกด้วยขิงสด แล้วอาการแพ้ยางจะค่อยๆ ทุเลาลงค่ะ

 

“เผือก” สุกจริงพร้อมกินหรือยัง  

แค่นำปลายมีดหรือไม้จิ้มฟันจิ้มลงไปในเนื้อ หากจิ้มไม่เจอเนื้อแข็งๆ แปลว่าสุกเรียบร้อยดี แต่ถ้าจิ้มลงไปแล้วยังรู้สึกว่าจิ้มยาก นั่นแปลว่าต้องปรุงต่ออีกหน่อย เพื่อเผือกจะได้สุกอย่างที่ต้องการ

ปิดท้ายกับคำถามที่หลายคนอยากรู้ว่า สรุปแล้วกินเผือกดีไหม  ลองพิจารณาจากประโยชน์เหล่านี้แล้วตัดสินใจได้เลยค่ะ

  • เผือกมีสารอาหารมากมาย ทั้งโปรตีน เบตาแคโรทีน วิตามินบี วิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก โพแทสเซียม แมกนีเซียม โซเดียม ฟลูออไรด์ และซาโปนิน
  • คนที่ต้องหลีกเลี่ยงการทานเผือกคือ คนที่มีอาการแพ้ เสมหะมา กระเพาะและลำไส้ทำงานไม่ปกติ
  • เผือกมีเกลือแร่หลากหลายชนิด มีฟลูออไรด์ที่ช่วยทำให้ฟันแข็งแรง ป้องกันฟังผุ
  • ในเผือกมีโปรตีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของอิมมูโนโกลบูลิน ช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น
  • เผือกช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยโรคมะเร็งหลังการผ่าตัด และช่วงพักฟื้น ทำให้ร่างกายกลับมามีความแข็งแรงเร็วขึ้น
  • เผือกช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร ช่วยย่อย มีฤทธิ์เป็นด่าง จึงช่วยปรับลดกรดในร่างกายให้เข้าสู่สมดุล ทำให้ผิวพรรณดีและผมดกดำ
  • การกินเผือกพร้อมข้าว เป็นการบำรุงลำไส้ บำรุงม้าม บำรุงไต ทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น

 

ข้อมูล : https://medthai.com/  , https://www.maeban.co.th/ และ https://veggiepedia.greenery.org/