ฟักทองไทย-ฟักทองญี่ปุ่น หน้าตาอาจต่างแต่ประโยชน์ไม่ต่างกัน

การกินผักหรือผลไม้ชนิดเดียวกัน แต่ต่างสายพันธุ์ ต่างแหล่งที่มา จะทำให้ประโยชน์ที่ได้รับต่างกันไปไหม คงต้องบอกว่า ต่างเพียงแต่เล็กน้อย ทั้งในเรื่องรสชาติ รสสัมผัส ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ต่างมีมากมาย ทั้งดิน ปุ๋ย รูปแบบการปลูก สภาพดินฟ้าอากาศ

อย่างเรื่องของฟักทองไทย-ฟักทองญี่ปุ่นที่เรานำมาเล่าให้รู้วันนี้ แม้จะต่างกันในหน้าตาและสายพันธุ์ แต่ประโยชน์ไม่ต่างกัน

ฟักทองแบ่งออกเป็น 2 ตระกูลใหญ่ๆ คือ ฟักทองตระกูลอเมริกัน (Pumpkin) ที่มีผลใหญ่ เนื้อยุ่ย และฟักทองตระกูลสควอช (Squash) ซึ่งได้แก่ ฟักทองไทยและฟักทองญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคย

ผิวของฟักทองไทยเมื่อยังเป็นผลอ่อนจะมีสีเขียว แต่พอแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสลับเขียว ผิวขรุขระเล็กน้อย (บางคนเรียกว่าฟักทองผิวคางคก) เปลือกจะแข็ง เนื้อด้านในเป็นสีเหลือง พร้อมด้วยเมล็ดสีขาวแบนๆ ติดอยู่

ฟักทองญี่ปุ่นลูกจะเล็กกว่า เปลือกไม่หนามาก ให้สีเหลืองสวยและผิวเนียน พูดง่ายๆ คือ ดูหน้าตาสวยงามกว่า แต่อย่างที่บอกนะคะว่า ไม่ว่าจะหน้าตาแบบไหน ประโยชน์มากมีไม่ต่างกัน และที่เด็ดกว่าคือ ไม่ว่าจะเป็นฟักทองไทยหรือญี่ปุ่น เราก็สามารถกินส่วนต่างๆ ของฟักทองได้มากกว่าการกินแค่ผลของมัน โดยเราสามารถกินยอดอ่อนก็ได้ กินดอกก็ดี ขนาดเมล็ดที่คิดว่าต้องทิ้ง ยังเป็นของว่างให้กินเพลินๆ 

ฟักทองยังเป็นอาหารเพื่อสุขภาพของผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักอีกด้วย เพราะฟักทองมีกากใยสูงมาก มีแคลอรีและไขมันน้อย จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการลดและควบคุมน้ำหนัก เพียงแค่กินฟักทองราวๆ 3 กรัม จะทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่มได้นานขึ้น

คุณค่าทางอาหารที่เด่นๆ ของฟักทองคือ มีฟอสฟอรัส แคลเซียม และมีสารเบต้าแคโรทีน ค่อนข้างสูง จึงมีส่วนช่วยป้องกันโรคมะเร็ง เพราะในฟักทองมีกรดโปรไบโอนิค ซึ่งมีส่วนทำให้เซลล์มะเร็งอ่อนแอลง เมล็ดฟักทองยังช่วยป้องกันไม่ให้ต่อมลูกหมากโต ป้องกันและรักษาโรคนิ่วป้องกันโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ส่วนเปลือกฟักทองช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินในร่างกาย ซึ่งช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันการเกิดโรคเบาหวา นอกจากนี้ ยังมีผลวิจัยมากมายพูดถึงประโยชน์ของฟักทองว่า ฟักทองมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระช่วยให้แก่ช้าลง, ช่วยบำรุงสุขภาพผิวให้เปล่งปลั่งสดใส, บำรุงและรักษาสายตา รวมถึงเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อะไรก็ตาม กินมากไปก็ใช่ว่าจะดี ฟักทองก็เช่นกัน เพราะฟักทองมีฤทธิ์อุ่น จึงไม่เหมาะกับคนที่มักมีอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะเหลือง ท้องผูก มีแผลในช่องปาก เหงือกบวมเป็นประจำ นะคะ

คุณค่าทางโภชนาการของฝักทอง ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 26 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 6.5 กรัม
  • น้ำตาล 2.76 กรัม
  • เส้นใย 0.5 กรัม
  • ไขมัน 0.1 กรัม
  • โปรตีน 1 กรัม
  • วิตามินเอ 476 ไมโครกรัม 53%
  • เบตาแคโรทีน 3,100 ไมโครกรัม 29%
  • ลูทีนและซีแซนทีน 1,500 ไมโครกรัม
  • วิตามินบี 1 0.05 มิลลิกรัม 4%
  • วิตามินบี 2 0.11 มิลลิกรัม 9%
  • วิตามินบี 3 0.6 มิลลิกรัม 4%
  • วิตามินบี 5 0.298 มิลลิกรัม 6%
  • วิตามินบี 6 0.061 มิลลิกรัม 5%
  • ฟักทองวิตามินบี 9 16 ไมโครกรัม 4%
  • วิตามินซี 9 มิลลิกรัม 11%
  • วิตามินอี 0.44 มิลลิกรัม 3%
  • วิตามินเค 1.1 ไมโครกรัม 1%
  • ธาตุแคลเซียม 21 มิลลิกรัม 2%
  • ธาตุเหล็ก 0.8 มิลลิกรัม 6%
  • ธาตุแมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม 3%
  • ธาตุแมงกานีส 0.125 มิลลิกรัม 6%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 44 มิลลิกรัม 6%
  • ธาตุโพแทสเซียม 340 มิลลิกรัม 7%
  • ธาตุโซเดียม 1 มิลลิกรัม 0%
  • ธาตุสังกะสี 0.32 มิลลิกรัม 3%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)