กินผักต้องรู้ 7 ผักนี้ดี แต่ตอนกินต้องระวัง

ตั้งแต่เด็กจนโตไม่เคยมีช่วงเวลาไหนที่จะมีคนบอกว่ากินผักแล้วไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะนอกจากสารอาหารต่างๆ จะเพียบ ไฟเบอร์อย่างเยอะ ช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายดำเนินไปด้วยดีจนเรียกได้ว่า กินผักเถอะ รับรองไม่มีอันตราย แต่ในยุคนี้ที่อะไรๆ พัฒนา การกินผัก เริ่มต้องกินแบบระวังกันแล้ว

เรื่องที่ว่าต้องระวังไม่ได้มีแค่สารเคมีปนเปื้อนที่อาจจะมากับดิน น้ำ หรือแม่แต่เมล็ดพันธุ์ แต่ยังรวมไปถึงการที่กินมากไปไม่ดีกับบางคนอีกด้วย จะมีผักอะไรบ้าง ว่าดูกันค่ะ

กะหล่ำปลี เคยได้ยินมาว่า คนเป็นไทรอยด์ไม่ควรกินกะหล่ำปลี แต่หมอบางคนก็บอกว่ากินได้ กินเถอะ เอาเป็นแบบนี้ดีไหมคะ เชื่อคุณหมอแต่ก็ระวังตัว ไม่สบายใจอย่าไปกิน โดยเฉพาะกะหล่ำปลีดิบที่เวลากินเข้าไป จะทำให้การทำงานของต่อไทรอยด์ผิดปกติ เพราะมีสารยับยั้งที่ไปขัดขวางการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์นั่นเอง

นอกจากนี้ คนที่มีอาการแพ้ผักในวงศ์ผักกาดและกะหล่ำก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะจะทำให้อาเจียน ผื่นขึ้นใบหน้าและลิ้นบวมได้ ส่วนคนที่เป็นโรคเบาหวานก็ควรระวัง เพราะกะหล่ำปลีมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหากกินในปริมาณมาก โดยเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ก็อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมากเกินไประหว่างผ่าตัด จึงนำไปสู่อาการชักหมดสติได้

แตงกวา เป็นผักที่ดูแลไม่น่ามีอันตรายนะคะว่าไหม แถมบางคนยังปลื้มแตงกวายามต้องการคุมน้ำหนักอีกด้วย เพราะกินแตงกวาแล้วอิ่มท้องดี แถมยังเป็นผักที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด บำรุงผิว แต่เจ้าแตงกวานี่ล่ะค่ะ ที่หากไปซื้อจากแหล่งที่วางใจได้ยาก คนขายไม่ซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภคก็อาจเจอการสารปนเปื้อนยาฆ่าแมลงได้ง่ายๆ ยิ่งกินแตงกวาทั้งเปลือกโดยไม่ล้างให้สะอาดก็คงหนีไม่พ้นว่าร่างกายจะได้รับสารพิษจากยาฆ่าแมลงเข้าไปแน่นอน

ฉะนั้น ก่อนกินแตงกวาสดๆ อย่าลืมปอกเปลือกแล้วล้างให้สะอาด ยอมเสียเวลาสัก 10 นาที แช่แตงกวาในน้ำผสมเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ แล้วจึงล้างออกด้วยการเปิดน้ำไหลผ่าน ก็จะช่วยลดสารเคมีที่อาจตกค้างได้

หน่อไม้ดิบ หลายคนบอกว่า ไม่เคยได้ยินว่าใครกินหน่อไม้ดิบ อ่ะๆ อย่าว่าไป เพราะคนในบางพื้นที่กินกันค่ะ ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังคือ  ในหน่อไม้ดิบมีสารไซยาไนด์ (Cyanide) อยู่ในปริมาณที่มาก เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย หากว่าร่างกายได้รับสารนี้เข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย ก่อนกินหน่อไม้ทุกครั้ง ให้มั่นใจว่า ปรุงสุกจริงๆ เพราะความร้อนจะช่วยสลายสารพิษลงได้

คื่นฉ่าย ผักใบเล็กใบน้อยที่บางคนมองว่าเป็นไม้ประดับในมื้ออาหารอย่างคื่นฉ่ายก็ต้องระวังนะคะ แม้จะเป็นผักอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย และมาพร้อมความดีหลายข้อ แต่รู้ไหมคะว่า การกินมากไปก็ไม่ดี อย่างที่คนโบราณหรือผู้ใหญ่สอนว่า กินอะไรก็กินแต่พอดีๆ มากไปน้อยไปก็ไม่เหมาะ

ในกรณีของคื่นฉ่ายนั้น หากว่ากินมากเกินไป อาจทำให้มีอาการท้องอืดหรือแก๊สในกระเพาะอาหารได้ เพราะในคื่นฉ่ายมีสารแมนนิทอล (Mannitol) มาก เจ้าสารตัวนี้มีความสารมารถในการขัดขวางการดูดซึมสารอาหารของลำไส้และทำให้เกิดความผิดปกติในทางเดินอาหารได้ และที่หลายคนไม่รู้มาก่อนคือ มีคนแพ้คื่นฉ่ายจนเกิดอาการคล้ายลมพิษมาแล้วนะคะ ทั้งตัวบวม หายใจลำบาก เพราะฉะนั้น ลองสำรวจตัวเองนะคะว่า กินแล้วมีผลข้างเคียงแบบไหนไหม

คะน้า มีอยู่ช่วงหนึ่ง คนกลัวการกินคะน้ากันมากๆ ไม่ใช่เพราะว่าแพงหรืออะไรหรอกนะคะ แต่เพราะมีข่าวว่า การปลูกคะน้ามีการใช้สารเคมีกันมาก นั่นก็เป็นความจริงในส่วนหนึ่ง เพราะในกลุ่มของผู้ที่ต้องการเร่งผลผลิต รวมถึงอยากให้ได้ผลผลิตงามๆ ก็อาจลืมนึกไปถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค แต่ทีนี้ถ้าตัดเรื่องสารเคมีออกไป การกินคะน้ามากเกินไป ก็อาจส่งผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์และไตนะคะ ยิ่งใครที่เป็นโรคไทรอยด์ โรคไต อยู่แล้ว เราขอบอกว่า กินคะน้าได้นะคะ แค่ต้องจำกัดปริมาณการกิน เพราะคะน้ามีโพแทสเซียมสูง ถ้าร่างกายของผู้ป่วยโรคไตได้รับมากไป ไตจะทำงานหนัก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ผักกาด ผักยอดฮิตที่มีสารต้านอนุมูลอิสระเพียบอย่างผักกาด กินแล้วดีต่อสุขภาพ ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันการอักเสบ ส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้กระดูกแข็งแรง และยังดีต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ เพราะอุดมไปด้วยโฟเลต ซึ่งเป็นวิตามินที่สำคัญต่อหญิงตั้งครรภ์และทารก ในการช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและพัฒนาการของทารก และอาจช่วยป้องกันโรคทางระบบประสาทในทารกแรกเกิดได้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากผักกาดที่มาจากแผล่งผลิตที่ไม่ดีก็เสี่ยงมีสารปนเปื้อนหรือสารพิษตกค้างอยู่ในผักกาดได้ง่ายๆ ฉะนั้นถ้ากินไปแล้วเกิดมึนงง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจไม่สะดวก ชัก หรือ เหล่านี้ อย่ารอช้า รับพาตัวเองไปพบแพทย์เลยนะคะ

ถั่วฝักยาว ชอบกันสุดๆ เวลาที่กินอะไรแซ่บๆ เพราะถ้าได้ถั่วฝักยาวดินกรอบๆ ที่แช่เย็นมากินแกล้มคือดีมาก แต่รู้ไว้นะคะว่า ถั่วฝักยาวดิบอาจมีสารฆ่าแมลงสะสมอยู่ในปริมาณที่สูงจากขั้นตอนการปลูกของผู้ผลิตบางกลุ่ม นอกจากนี้ในถั่วฝักยาวยังมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ค่อนข้างสูง ทำให้ท้องอืด จึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาการย่อย  โดยเฉพาะคนสูงอายุ  ดังนั้นก่อนกินจึงควรล้างทำความสะอาด หรือนำไปลวกให้สุกซะหน่อยค่อยกิน

สุดท้ายนี้ KC Fresh ยังคงยืนยันว่า การกินผักนั้นดีต่อสุขภาพ แต่สิ่งที่ผู้บริโภคควรใส่ใจ คือแหล่งที่มา และความสะอาด หมั่นสังเกตตัวเองทุกครั้งที่บริโภคอาหารทุกชนิด แล้วเชื่อเถอะค่ะว่า คุณจะปลอดภัยและสุขภาพถาวรจากภายในสู่ภายนอกแน่นอน