ห่วงใยใคร ให้กิน “ดอกแค”

แค่ได้ยินคำว่า ‘แค’ ก็แสนจะอุ่นใจ แต่วันนี้ KC Fresh ไม่ได้จะมาบอกความในใจอะไรใคร เพราะ ‘แค’ ที่ว่า คือ ต้นแคที่ให้ดอกแคสีขาวนวล แถมมีประโยชน์กับร่างกายมากมาย รับรองเลยค่ะว่า ถ้ารู้แล้วละก็ คุณจะอยากส่งต่อความห่วงใยในสุขภาพให้คนที่รักด้วยดอกแคแน่นอน

แต่ก่อนจะส่งความห่วงใยผ่านเมนูอร่อยๆ ที่มีส่วนประกอบของดอกแค KC Fresh อยากให้ทุกคนได้รู้จักพืชสมุนไพรชนิดนี้กันก่อนค่ะ

เริ่มต้นแบบเคลียร์ๆ กันก่อนสำหรับการเรียกชื่อเสียงเรียงนามให้ถูกต้อง “ต้นแค”  ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Cork Wood Tree แต่ถ้าเมื่อไหร่เป็น “ดอกแค” จะใช้ว่า Sesbania Grandiflora เป็นพืชที่พบเฉพาะในแถบเอเชียบางประเทศ

เรื่องต่อมาที่ต้องเคลียร์คือ ดอกแค ไม่ใช่ผักนะคะ เพราะถูกจัดว่าเป็นพืชสมุนไพร เนื่องจากสมัยโบราณดอกแคเป็นยาแผนโบราณ และทั้ง “ยอด” และ “ดอก” ยังสามารถนำทำอาหาร โดยมีคุณสมบัติเด่นๆ ในเรื่องการต่อต้านความชรา เพราะดอกและยอดมีสารอาหารที่มีส่วนสำคัญในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระให้กับร่างกาย คือ วิตามินเอ วิตามินบี1 2 3 วิตามินซี เบต้าแคโรทีน แคลเซียม ฟอสฟอรัสและธาตุเหล็ก

สำหรับชาวต่างชาติจะมองว่า แคเป็นพืชสมุนไพรชนิดที่หายาก จึงมีราคาสูง ใช้ทำยาได้มากมาก เช่น ยาที่ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้หัวลม แก้อาการปวดฟัน แก้บิด แก้ท้องเดิน ท้องร่วง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ป้องกันและรักษาอาการหวัด แก้ปวด ลดไข้ ช่วยบำรุงและเสริมสร้างกระดูกและฟัน ช่วยให้ระบาย ฯลฯ

คนไทยนั้น นิยมกินแคทั้งยอดอ่อน ใบอ่อน ดอก และฝักอ่อน โดยนิยมนำดอกไปลวกน้ำร้อนกินร่วมกับน้ำพริก และยิ่งถ้าเป็นดอกอ่อนๆ จะยิ่งชอบ เพราะนำไปทำอาหารได้หลายชนิด แต่ไม่ว่าจะเป็นเมนูไหน จะไม่นินมกินสดๆ เพราะดอกแคสดๆ จะมีรสเฝื่อน จะต้องเอาเกสรตัวผู้ออกจากดอกแคก่อนปรุงเพื่อลดความขม

ส่วนฝักไม่ต้องคิดอะไรมาก วิธีการกินก็เหมือนกินถั่วฝักยาว สำหรับส่วนต่างๆ นอกเหนือจากนี้ก็ยังนำมาใช้ประโยชน์ได้เพียบ เช่น ใบนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ ลำต้นนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงเห็ดหูหนูหรือใช้ทำฟืนได้ นอกจากนี้ ปมรากต้นแคยังมีจุลินทรีย์ที่เมื่อจับก๊าซไนโตรเจนในอากาศจะกลายเป็นปุ๋ยที่ปรับปรุงดินอีกด้วย

ทั้งนี้ ในการใช้แคบ้าน เป็นยาสมุนไพร ไม่ควรใช้เกินขนาดที่กำหนดตามตำรับยาต่างๆ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ยิ่งโดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว หรือต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้แคบ้านเป็นสมุนไพรในการรักษาโรคต่างๆ

ในการเลือกซื้อยอดอ่อนและใบอ่อนของแค ควรเลือกเป็นใบสด ไม่ร่วง ส่วนดอกให้เลือกดอกตูมที่กำลังจะบาน ซึ่งยอดอ่อนและใบอ่อนจะหาซื้อได้ทั่วไปในตลาด แต่สำหรับฝักอ่อนค่อนข้างจะหาซื้อยาก ต้องปลูกต้นแคไว้เองจึงจะได้รับประทาน

 

คุณค่าทางโภชนาการของดอกแคต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 27 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 6.73 กรัม
  • ไขมัน 0.04 กรัม
  • โปรตีน 1.28 กรัม
  • วิตามินบี 1 0.083 มิลลิกรัม 7%
  • วิตามินบี 2 0.081 มิลลิกรัม 7%
  • วิตามินบี 3 0.43 มิลลิกรัม 3%
  • วิตามินบี 9 102 ไมโครกรัม 26%
  • วิตามินซี 73 มิลลิกรัม 88%
  • ธาตุแคลเซียม 19 มิลลิกรัม 2%
  • ธาตุเหล็ก 0.84 มิลลิกรัม 6%
  • ธาตุแมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม 3%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม 4%
  • ธาตุโพแทสเซียม 184 มิลลิกรัม 4% %

ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

 

ข้อมูล : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (นพพล เกตุประสาท), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ (เธียพัฒน์ ศรชัย), เว็บไซต์มูลนิธิหมอชาวบ้าน