“ผักชี” ผักอินเตอร์ที่ใครๆ ก็กิน

พูดถึง “ผักชี” คนไทยทุกคนเป็นต้องร้องอ๋อ เพราะความจัดจ้านในรสชาติของหลายเมนูอาหารไทยก็ล้วนมีผักชีเป็นส่วนประกอบสำคัญ ส่วนใครที่อาจไม่ถูกจริตกับกลิ่นเฉพาะตัวของผักชีก็ต้องเคยเห็นบ้างในฐานะที่เป็นผักตกแต่งจานมาบ้าง แถมความฮอตฮิตของผักชียังมาแรงจนมีกระแส “ผักชีฟีเวอร์” เกิดขึ้นกับคนญี่ปุ่นเมื่อ 2-3 ปีก่อน

“ผักชี” มีความดีงามที่ตรงไหน ทำไมใครๆ ก็กินผักชี KC Fresh หาข้อมูลมาให้แล้วค่ะ

แม้จะเรียกว่า ผักชีไทย แต่จริงๆ แล้วกำเนิดของผักชีอยู่ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน อินเดีย และเอเซียตะวันตก โดยผักชีจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องเทศที่มีการใช้กันมาอย่างยาวนาน เนื่องจากมีหลักฐานว่าปลูกในอียิปต์นานกว่า 3,500 ปี

และคำว่า “Coriander” นั้นมาจากภาษากรีก “Koris” ที่แปลว่า bug เพราะว่ากันว่าลูกผักชีมีกลิ่นเฉพาะคล้าย bed bug  (อ้างอิง : https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/) เป็นผักที่นิยมนำมาทำอาหารเพื่อให้อาหารมีกลิ่นหอมน่ากินมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารของประเทศแถบละตินอเมริกา, ตะวันออกกลาง, จีนและไทย และมากกว่านั้นคือ เราสามารถใช้ประโยชน์จากผักชีได้อย่างคุ้มค่า เพราะผักชีหนึ่งต้นสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน และไม่ได้ให้ประโยชน์แค่เรื่องรสชาติแต่มีสรรพคุณดีๆ แฝงอยู่ ดังนี้

ผักชีช่วยต้านอนุมูลอิสระ ใบผักชีมีกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระสูง ได้แก่ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) สารกลุ่มแลคโตน (lactones) สารกลุ่มฟีโนลิก (phenolic acids) สารกลุ่มแทนนิน(tannins) และน้ำมันหอมระเหย และต้นผักชียังอุดมไปด้วยวิตามินเอและเกลือแร่ ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง ต่อต้านอาการชัก ป้องกันเซลล์สมองจากการถูกทำลาย ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ช่วยย่อยในระบบทางเดินอาหาร

ผักชีช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง จากงานศึกษาวิจัยหลายๆ ชิ้นยืนยันตรงกันว่า ผักชีสามารถทำให้การก่อตัวของสารกลุ่ม HCA ลดลงได้  เพราะเป็นเครื่องเทศที่มีรสชาติเผ็ดร้อนและมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งสารก่อมะเร็งกลุ่มเฮเทอโรไซคลิกเอมีน (heterocyclic amine: HCA) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการรับประทานอาหารปิ้งย่าง

ผักชีช่วยลดน้ำตาลในเลือด ว่ากันว่าเมล็ดและน้ำมันหอมระเหยของผักชี มีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยเพิ่มการหลั่งสารอินซูลิน แต่ก็ควรรับประทานอย่างระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือรับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือดอยู่แล้ว

ผักชีช่วยส่งเสริมระบบการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ ในตำรายาแผนไทยนิยมใช้ผลผักชีในการกระตุ้นกระเพาะอาหารและลำไส้ ให้ขับน้ำดีและขับน้ำย่อยออกมามากขึ้น  ช่วยย่อยอาหาร และช่วยให้เจริญอาหารมากขึ้น นอกจากนั้น น้ำมันหอมระเหยของลูกผักชีมีสารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ผักชีช่วยบำรุงสายตาและต้านอาการอักเสบ จากการศึกษาพบว่า สารต้านอนุมูลอิสระที่มีสูงในผักชี มีสรรพคุณที่ช่วยต่อต้านการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย และสารเบต้าแคโรทีนยังมีส่วนบำรุงสายตา ทำให้การทำงานของสายตาเป็นไปอย่างปกติ

แม้ผักชีจะมีประโยชน์เพียบ แต่เวลากินก็ยังต้องระวัง โดยเฉพาะกับคนที่มีประวัติแพ้พืชวงศ์ผักชี เช่น คื่นช่าย กระเทียม และหอมใหญ่ เพราะอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ในลักษณะผื่นแพ้สัมผัส ผดผื่นคัน ทำให้ผิวไวต่อแสงแดด และอาจส่งผลให้เยื่อบุจมูกและตาอักเสบ นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคไตก็ไม่ควรกินผักชีในปริมาณมาก เพราะผักชีจะมีโพแทสเซียมสูง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ (อ้างอิง : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.))

สำหรับคนทั่วไปที่แม้สุขภาพร่างกายจะแข็งแรงดี การกินผักชีปริมาณมากๆ อาจทำให้มีกลิ่นตัวแรงขึ้นได้เช่นกัน ทางที่ดีควรยึดหลัก กินแต่พอดีให้สมดุลกับการกินเมนูอื่dนๆ จะดีที่สุด