‘คะน้า’ ผักปลอดภัยช่วยป้องกันโรค

จริงอยู่ที่การปลูกคะน้านิยมใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง แต่ถ้าซื้อมาแล้วรู้วิธีทำความสะอาดขจัดสารตกค้างอย่างถูกวิธีคะน้าก็เป็นผักอีกชนิดที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเปี่ยมไปด้วยคุณค่าสารอาหารที่ช่วยป้องกันโรคมากมาย

คะน้า เป็นพืชวงศ์ผักกาด นิยมปลูกในประเทศจีน ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย และไทย คนส่วนใหญ่นิยมใช้ลำต้นและใบมาประกอบอาหาร ซึ่งลักษณะทั่วไปคือมีลำต้นตั้งตรง อวบใหญ่สีเขียวนวล สูง 20-30 เซนติเมตร  ใบจะแตกออกจากลำต้นเรียงสลับกัน  ผิวใบมีลักษณะเป็นคลื่น ผิวมัน สีเขียวอ่อนถึงเขียวแก่ ยอดมีลักษณะเป็นใบอ่อนขนาดเล็ก 2-3 ใบ  

ทั้งนี้ คะน้าไม่ได้มีเพียงสายพันธุ์เดียวเท่านั้น แต่มีหลายลักษณะแตกต่างไปตามสายพันธุ์  ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ใบกลม พันธุ์ใบแหลมและพันธุ์ยอดหรือก้าน สามารถกินได้ตั้งแต่ต้นที่มีขนาดเล็กจนกระทั่งออกดอก แต่ที่นิยมกินกันมากคือบริเวณยอดคะน้าเนื่องจากมีวิตามินซีและเกลือแร่อยู่เยอะ

 

กินคะน้าทั้งต้นได้ประโยชน์ไปเต็มๆ

คะน้าป้องกันโรคต้อกระจก เพราะสารลูทีน (Lutein) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่พบในเลนส์ตา การกินคะน้าจึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต้อกระจกลงได้ถึง 20% (เมื่อเทียบกับคนไม่ได้กิน)

คะน้าชะลอความเสื่อมของเซลล์ได้ เพราะมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ  ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ช่วยป้องกันการติดเชื้อต่างๆ และยืดอายุของเซลล์ให้เสื่อมช้าลง

คะน้าช่วยป้องกันโรคมะเร็ง เนื่องจากในคะน้ามีวิตามินเอที่มีคุณสมบัติต้านการเกิดเซลล์มะเร็งและช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกาย  ลดโอกาสเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อ และช่วยลดความเสี่ยงอาการเจ็บป่วยโดยรวมได้  การกินคะน้าเป็นประจำจึงลดอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร ปอด และเต้านมได้

คะน้าดูแลเรื่องกระดูก เพราะในคะน้ามีแคลเซียมสูง จึงช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ และยังมีสารอิเล็กโทรไลต์ที่ช่วยเสริมการทำงานขฮงแคลเซียมให้ทำงานเป็นปกติขึ้น ทั้งนี้มีการวิจัยพบว่า หากกินคะน้า 1 ถ้วย จะเปรียบเสมือนดื่มนม 1 แก้วเลยทีเดียว

คะน้าป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง เนื่องจากมีธาตุเหล็กและฟอสฟอรัสที่ช่วยเสริมสร้างการสร้างเม็ดเลือดแดงจึงมีส่วนสำคัญในการบำรุงเลือด เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ช่วยสร้างกล้ามเนื้อและบำรุงเนื้อเยื่อต่างๆ

คะน้าลดอาการปวดหัวไมเกรน เพราะเปี่ยมไปด้วยแมกนีเซียมในปริมาณสูง จึงช่วยลดความถี่ของการเกิดอาการไมเกรนได้ทางหนึ่ง

 

แม้คะน้าจะมีประโยชน์มากแค่ไหน การกินคะน้าก็มีข้อควรระวังอยู่ 2 ประเด็น ซึ่งประเด็นแรกคือเรื่องสารเคมีและยาฆ่าแมลงที่เราเกริ่นไว้ตั้งแต่ต้น เนื่องจากการปลูกคะน้าส่วนใหญ่เกษตรกรนิยมใช้สารเคมีมาเป็นตัวช่วย  ซึ่งเป็นพิษต่อตับและไต ดังนั้นหากจะกินคะน้าให้ปลอดภัยควรล้างทำความสะอาดอย่างดี แช่ด่างทับทิม, น้ำยาล้างผัก, น้ำส้มสายชู หรือเกลือละลายน้ำ จากนั้นขัดล้างบริเวณใบประมาณ 2 นาที แล้วเปิดน้ำสะอาดช่วยชะล้าง หรืออีกทางเลือกที่ง่ายกว่าคือ หันมากินผักคะน้าที่ผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ จะดีที่สุด

สำหรับประเด็นต่อมาคือ เมื่อจะบริโภค พยายามเลี่ยงการกินแบบดิบๆ เพราะในคะน้ามีสารกอยโตรเจน (Goitrogen) ซึ่งอยู่ในกลุ่มสารที่ขัดขวางการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ ทำให้ร่างกายนำไอโอดีนไปใช้สร้างฮอร์โมนธัยรอกซินได้น้อยกว่าปกติ นอกจากนี้ควรกินในปริมาณพอดีๆ เพราะถ้ากินมากไปอาจจะทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ร่างกายขาดแร่ธาตุไอโอดีน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคคอพอก และสารดังกล่าวอาจไปยับยั้งการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์อีกด้วย 

 

คุณค่าทางโภชนาการ : คะน้าดิบปริมาณ 100 กรัม

  • พลังงาน 31 กิโลแคลอรี
  • น้ำ 92.1 กรัม
  • โปรตีน 2.7 กรัม
  • ไขมัน 0.5 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 3.8 กรัม
  • เส้นใย 1.6 กรัม 
  • แคลเซียม 245 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 80 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม
  • เบต้า-แคโรทีน 2512 ไมโครกรัม
  • วิตามินเอ 419 iu.
  • วิตามินบี1 0.05 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.08 มิลลิกรัม
  • ไนอะซิน 1.0 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 147 มิลลิกรัม