กินอย่างปลอดภัย แค่เข้าใจในตัวย่อบนฉลากอาหาร

ทุกวันนี้เวลาที่จะซื้ออาหารอะไรก็ตาม  KC Fresh เชื่อว่าแทบจะทุกคนต้องพลิกดูวันที่ผลิตและวันหมดอายุก่อนตัดสินใจซื้อแทบทั้งนั้น เพราะวันที่ดังกล่าวเกี่ยวเนื่องไปถึงการตัดสินใจซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคุ้มค่าหรือความปลอดภัยในการกิน

นอกจากนี้ สำหรับบางคน การดูวันเวลาดังกล่าวยังเกี่ยวเนื่องไปถึงการวางแผนใช้ชีวิตในแต่ละสัปดาห์หรือแต่ละเดือนได้ด้วย เช่นในหนึ่งสัปดาห์ช้อปปิ้งของเข้าบ้านเข้าคอนโดเท่าไหร่ ควรซื้ออะไรมาเก็บไว้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะแบบนี้ KC Fresh จึงขอพาทุกคนมาทำความรู้จักและเข้าใจในตัวย่อและความหมายของคำต่างๆ บนฉลากกันค่ะ

ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 194 พ.ศ.2543 เรื่องฉลากอาหาร ได้กำหนดให้อาหารทุกชนิดที่ผู้ผลิตไม่ได้เป็นผู้ขายอาหารนั้นให้กับผู้บริโภคโดยตรงต้องแสดงฉลากบนภาชนะบรรจุโดยแสดงข้อมูลเกี่ยวกับอาหารนั้น ซึ่งหนึ่งในข้อมูลที่ต้องมีคือ ข้อมูลความปลอดภัยในการบริโภคที่เกี่ยวกับ วันที่ผลิต/หมดอายุ

โดยวันที่ผลิตใช้ตัวย่อว่า MFG / MFD ย่อมาจาก Manufacturing date / Manufactured Date หมายถึงวันที่ผลิต

ส่วนในเรื่องวันหมดอายุนั้น กฎหมายอนุญาตให้บริษัทผู้ผลิตสามารถใช้คำว่า EXP / EXD ย่อมาจาก Expiry Date / Expiration Date หมายถึงวันหมดอายุ หรือ BB / BBE ย่อมาจาก Best Before / Best Before End หมายถึงควรบริโภคก่อนวันที่ โดยความหมายของคำสองคำนี้ต่างกันนะคะ

เมื่อไหร่ก็ตามที่ใช้คำว่า “หมดอายุ” หมายถึง วันที่ซึ่งแสดงการสิ้นสุดของคุณภาพของอาหารภายใต้เงื่อนไข การเก็บรักษาที่ระบุไว้ และหลังจากวันที่ระบุไว้นั้น อาหารนั้นวางจําหน่ายไม่ได้ (ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ)

หากอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ วันที่ระบุไว้เป็นวันที่อาหารนั้นหมดอายุ ควรนำไปทิ้งเพราะหลังจากวันนั้น อาหารจะเน่าเสีย ห้ามรับประทาน

ทั้งนี้ แม้ว่าในฉลากจะระบุวันหมดอายุมาให้แล้วก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคก็ควรบริโภคอาหารนั้นๆ ภายใน 2-3 วันหลังจากที่ซื้อ (แม้ว่าวันที่ที่แจ้งไว้จะบอกว่าอยู่ได้อีก 7 วันก็ตาม) เหตุผลคือเรื่องของอุณหภูมิในการเก็บรักษาอาหารนั้นๆ ระหว่างที่ขนส่งที่อาจไม่ได้เท่ากับอุณหภูมิที่ออกมาจากโรงงานผู้ผลิต ซึ่งอาจไม่ใช่อุณหภูมิที่ควรจะเป็นหรืออุณหภูมิเดียวกัน ส่งผลให้อายุการเก็บสั้นลง ซึ่งนั่นส่งผลไปถึงอายุของการบริโภคนั่นเอง 

แต่ถ้าใช้คำว่า “ควรบริโภคก่อน” หมายถึง วันที่ซึ่งแสดงการสิ้นสุดของช่วงเวลาที่อาหารนั้นยังคงคุณภาพดี ภายใต้เงื่อนไขการเก็บรักษาที่ระบุไว้ และหลังจากวันที่ระบุไว้นั้น อาหารนั้นวางจําหน่ายไม่ได้  (ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ) 

นั่นแปลว่า อาหารจะมีรสชาติดีและยังคงคุณค่าทางอาหารครบถ้วนตามที่ระบุไว้บนฉลากอาหารจนถึงวันนั้น แต่ถ้าผ่านพ้นหลังจากวันนั้นไปแล้ว รสชาติ คุณภาพและคุณค่าทางอาหารที่จะได้รับจะลดลง และไม่มีปัญหาในเชิงความปลอดภัย ผู้บริโภคยังสามารถบริโภคได้โดยไม่มีอันตราย เพียงแต่อาจไม่ได้ประโยชน์จากอาหารนั้นตามที่ระบุไว้บนฉลากอาหาร

คำถามที่มักพบบ่อยๆ คือ หากว่าเลยวันที่ระบุไว้ว่า “ควรบริโภคก่อน” ไปแล้ว สามารถกินได้ถึงวันไหนนับจากวันที่ดังกล่าว

คำตอบคือ ไม่สามารถระบุได้แบบเป๊ะๆ ขึ้นอยู่กับประเภทของอาหาร และการเก็บรักษาของแต่ละคน หลังจากที่ซื้อมาแล้ว ดังนั้นก่อนรับประทานควรตรวจสอบกลิ่น รสชาติว่ายังดีอยู่หรือไม่เสมอ

หลังจากที่เข้าใจความหมายของคำต่างๆ แล้ว KC Fresh ก็ขอปิดท้ายด้วยวิธีการเก็บรักษาคุณภาพอาหารให้อยู่ได้นานตลอดช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้บนบรรจุภัณฑ์ โดยนิยามตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเป็นกฎหมาย ฉบับที่ 367 พ.ศ.2557 เรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ นั่นคือ

  1. ผู้บริโภคควรเก็บอาหารไว้ในที่แห้งและเย็น เพราะจะทำให้การเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ช้ากว่าเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติ
  2. หากเป็นอาหารปรุงสำเร็จพร้อมทาน สามารถอยู่ในตู้เย็นช่องธรรมดา 1-2 วัน
  3. หากซื้อผักและผลไม้สดมาสามารถเก็บในตู้เย็นที่ช่องเก็บผักผลไม้ ขอให้กินให้หมดภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งหากไม่ได้เก็บในช่องเก็บผักผลไม้โดยเฉพาะ อายุอาจจะสั้นลงไปอีก
  4. ขนมปังสามารถกินต่อไปได้ 3 – 5 วัน หลังจากวันที่ระบุว่าควรบริโภคก่อนบนสลาก
  5. ไข่ที่เก็บไว้ในตู้เย็น มีอายุอยู่ได้ 2 – 3 สัปดาห์
  6. อาหารกระป๋อง/ ซีเรียล เก็บในที่แห้งและเย็น ไม่ถูกแสง เก็บได้อีกเป็นปีหลังจากวันที่ระบุบนผลิตภัณฑ์

 

ข้อมูล :

  • ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ
  • ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร