รู้จัก “มะเขือเปราะ” พืชสวนครัวคู่คนไทย

เวลาที่ได้ยินคำว่ามะเขือ มักมีคำถามตามมาว่า มะเขือที่พูดถึงคือ มะเขืออะไร เพราะในโลกนี้มีมะเขือนับร้อยสายพันธุ์ ที่คุ้นๆ ก็มะเขือเทศ มะเขือพวง มะเขือเปราะ มะเขือม่วง  แต่ถ้าจะบอกว่า มะเขือที่กินบ่อยๆ ในเมนูอาหารไทยที่คนไทยคุ้นเคย การันตีเลยว่าหลายคนต้องนึกถึง มะเขือลูกกลมๆ ที่สีเขียวๆ ขาวๆ ขั้วผลหนาๆ และแน่นอนว่า ภาพแกงเขียวหวานจะต้องปรากฏขึ้นมาแน่นอน

วันนี้ KC Fresh จึงขอนำเรื่องมะเขือมาฝากกันค่ะ ซึ่งพันธุ์ที่เราเลือกมา ใกล้ตัวทุกคนสุดๆ  นั่นคือ “มะเขือเปราะ”  ค่ะ

คนไทยเรียก “มะเขือเปราะ” แต่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Thai Eggplant บ้างล่ะ Green Brinjal บ้างล่ะ หรือไม่ก็ Kantakari ซึ่งเป็นคำที่คนอินเดียใช้เรียก ถ้าเอาชื่อทั้งหลายไปค้นดู จะเห็นหน้าตาของมะเขือเปราะที่ต่างกัน นั่นเพราะพืชชนิดนี้มีญาติพี่น้องถึง 400 กว่าสายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ต่างที่หน้าตา รูปร่าง รสชาติ แต่ประโยชน์โดยรวมคล้ายๆ กันค่ะ

มะเขือเปราะจัดเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก ทรงพุ่ม ลำต้นตั้งตรง ผิวเรียบ ไม่มียาง ใบทรงหัวลูกศร ปลายใบแหลม โคนใบมน ดอกออกตามซอกใบ รูปกงล้อ ไม่มีกลิ่น มีทั้งสีขาวและสีม่วง รูปทรงผลที่เราคุ้นๆ คือทรงกลม แต่แบบเรียวรูปไข่ก็มี ผลมีเรียบ เนื้อแน่น กรอบฉ่ำน้ำ ส่วนใหญ่เป็นสีเขียว แต่ก็อาจจะเป็นสีขาว สีเหลือง หรือสีม่วงได้ตามสายพันธุ์ เนื้อด้านในเป็นเมือกและมีเมล็ดเยอะมาก เมื่อแก่แล้วผลจะมีสีเหลือง

และนี่คือ ตัวอย่างมะเขือบางสายพันธุ์ที่จะพบได้ในบ้านเรา 

มะเขือเปราะสรรพคุณดีๆ มีอยู่เพียบ

สรรคคุณของมะเขือเปราะมีมากมายค่ะ  แถมยังใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ราก ผล ใบ  ซึ่งข้อมูลทางเภสัชศาสตร์มีการค้นพบว่า ในผลของมะเขือเปราะนั้น มีทั้งแคลเซียม ธาตุเหล็ก แมกนีเซียมคลอไรด์

ในประเทศอินเดียได้นำมะเขือเปราะทั้งต้นมาสกัดเอาสารอัลคาลอยด์ไปใช้ในการรักษาอาการไข้ตัวร้อน แก้ไอ และโรคหัวใจ และพบว่าสารที่ว่ามีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้บีบตัวได้แรงขึ้น แต่หากใช้ในปริมาณมากเกินไปจะทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลง

ขณะที่ผลงานวิจัยนานาชาติระหว่างปี พ.ศ.2510-2538 ได้ระบุว่า ผลมะเขือเปราะมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ บำรุงหัวใจ ลดความดันโลหิต และต้านมะเร็งได้ เนื่องจากผลมะเขือเปราะมีสารไกลโคอัลคาลอยด์โซลามาร์จีน โซลาโซนีน และอัลคาลอยด์โซลาโซดีนที่ปราศจากโมเลกุลน้ำตาล ซึ่งเมื่อนำไปทดสอบฤทธิ์การต้านเซลล์มะเร็งของสารเหล่านี้พบว่า สารทุกตัวมีฤทธิ์ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งตับ

แต่สรรพคุณของมะเขือเปราะยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะในประเทศอินเดียได้ทำการทดลองใช้สารสกัดน้ำของผลมะเขือเปราะเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูเบาหวานอะล็อกซาน โดยผลการทดลองพบว่า สารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีเทียบเท่ากับการใช้ยากลิเบนคลาไมด์ (glibenclamide) และยังมีการทดสอบเพิ่มเติมที่พบว่า สารสกัดนี้จะออกฤทธิ์คล้ายกับอินซูลิน โดยช่วยเสริมการใช้งานกลูโคสอย่างมีประสิทธิภาพและมีผลเชิงบวกต่อการทำงานของตับอ่อนอีกด้วย

           

คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือเปราะ ต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย

  • พลังงาน 39 กิโลแคลอรี่
  • ไขมัน 0.8 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 8.8 กรัม
  • โปรตีน 1.8 กรัม
  • เส้นใย 2.5 กรัม
  • แคลเซียม 38 มิลลิกรัม     
  • เหล็ก 1.2 มิลลิกรัม          
  • ฟอสฟอรัส 70 มิลลิกรัม 
  • วิตามิน เอ 29 ไมโครกรัม 
  • วิตามินบี 1 ไทอะมีน 0.07 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 ไรโบฟลาวิน 0.16 มิลลิกรัม         
  • วิตามินบี 3 ไนอะซีน 2.4 มิลลิกรัม   
  • วิตามินซี 3 มิลลิกรัม                                                                

ข้อมูล : มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 351 คอลัมน์ : บทความพิเศษ.  (รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ).  “มะเขือเปราะลดน้ำตาลในเลือด”.  [ออนไลน์]. และ https://medthai.com/